การประเมินความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชุดตึกแถวอนุรักษ์ไทยจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

Main Article Content

ยุพิน พรมหล่อ
เกรียงศักดิ์ แก้วกุลชัย

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชุดตึกแถวอนุรักษ์ไทย4 ชั้นตามมาตรฐานการประเมินและการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารในเขตที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ. 1303-57) โดยจำลองตัวอย่างอาคารในระบบสามมิติ กำหนดให้อาคารตั้งอยู่ในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เสี่ยงภัย ปานกลาง และเสี่ยง โดยใช้วิธีวิเคราะห์โครงสร้างด้วยวิธีสถิตไม่เชิงเส้น (nonlinear pushover analysis) และวิธีพลศาสตร์ไม่เชิงเส้นหรือวิธีประวัติเวลาแบบไม่เชิงเส้น (nonlinear time – history analysis) ด้วยคลื่นแผ่นดินไหว 9 คลื่น จากการศึกษา พบว่า การวิเคราะห์ด้วยวิธีแบบแรงกระทำด้านข้างให้ผลสมรรถนะอาคารในระดับปลอดภัยต่อชีวิตในทิศทางตามขวางและระดับเข้าใช้อาคารได้ทันทีในทิศทางตามยาวของอาคารความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างชั้น พบว่า อาคารในทิศทางตามขวางมีค่าการเคลื่อนที่สัมพัทธ์ระหว่างชั้นบริเวณชั้น 4 เกินระดับปลอดภัยต่อชีวิตอาคารในทิศทางตามยาว พบว่า การเคลื่อนที่สัมพัทธ์ระหว่างชั้นเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานระดับปลอดภัยต่อชีวิต พบความเสียหายเกิดขึ้นในคานกระจายตามชั้นต่าง ๆ สำหรับการวิเคราะห์ด้วยวิธีประวัติเวลาแบบไม่เชิงเส้น พบว่า ความเสียหายในโครงสร้างมีน้อยกว่าการวิเคราะห์ด้วยวิธีแรก โดยมีคลื่นแผ่นดินไหว 2 คลื่นที่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง และให้ผลสมรรถนะอาคารอยู่ในระดับเข้าใช้อาคารได้ทันที ความเสียหายพบมากในเสาบริเวณชั้น 3 และชั้น 2 มีค่าการเคลื่อนที่สัมพัทธ์ระหว่างชั้นอยู่ในเกณฑ์ฯ จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า การประเมินอาคารชุดตึกแถวอนุรักษ์ไทยจากการวิเคราะห์ทั้งสองวิธีได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันกล่าวคือ เกิดความเสียหายมากที่สุดบริเวณชั้น 3 และอาคารยังคงมีสมรรถนะในระดับปลอดภัยต่อชีวิต

Article Details

บท
บทความวิจัย