การวิเคราะห์ทัศนภาพจากการขยายตัวของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า: กรณีศึกษาสำหรับภาคการขนส่งทางถนนในกรุงเทพมหานคร
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทคัดย่อ
เช่นเดียวกับการจราจรในเ มืองใหญ่ทั่วๆ ไป ปัญหาการจราจร (Traffic jam) ในกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาสำคัญในการเดินทางในเขตเมือง (Urban travelling) และจากข้อจำกัดของระบบสาธารณูปโภคเพื่อการเดินทางสาธารณะ การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจึงเป็นทางเลือกหลักของคนกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลและปัญหามลพิษในเขตการจราจรคับคั่ง ส่งผลให้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีสะอาด และมีประสิทธิภาพสำหรับการเดินทางในอนาคต งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเกิดการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร จากการวิเคราะห์ทัศนภาพ (Scenario analysis) โดยผลกระทบที่ต้องการศึกษาได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Electric energy demand) และปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิล สถานการณ์จำลองการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบันจนกระทั่งปี พ.ศ. 2573 โดยเน้นเฉพาะการขยายตัวของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว ได้แก่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนบุคคล ความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะถูกคำนวณด้วยแบบจำลองความต้องการพลังงานในภาคการขนส่งทางบก บนพื้นฐานของโปรแกรม Long-range Energy Alternatives Planning System (LEAP) ผลจากงานวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับภาคการผลิตและบริการไฟฟ้า ตลอดจนการกำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คำสำคัญ: การเดินทางในเขตเมือง การวิเคราะห์ทัศนภาพ ความต้องการพลังงานไฟฟ้า ปัญหาการจราจร
Abstract
Like other urban areas, the traffic jam is always an important problem for urban dwellers in Bangkok and vicinity. Due to limitations of public transport infrastructure, private transport modes are the most popular choices for many in Bangkok.However, with dramatically rising fuel prices and air pollution problems in traffic congested areas; electric vehicle (EV)technology has received much interest as a clean and efficient technology for future transportation. Therefore, this work aims to assess the future consequences from EV technology penetration into Bangkok by recourse to Scenario analysis.The evaluation included the demands for both electricity and fossil fuel. Several model scenarios for EV technology penetration were constructed between the present year to 2030, especially for the technology penetration in private transportation sector, e.g. private motorcycle and private passenger car. The electricity demand was calculated from the energy demand model from road transportation, by recourse to Long-range Energy Alternative Planning System(LEAP) program. The results from this study can be used as preliminary guideline for electricity production/service plan, as well as for implementing national policy to support efficient energy usage under environmental friendliness.
Keywords: Traffic jam, urban travelling, scenario analysis, electrical energy demand