การวิเคราะห์ภัยแล้งบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยโดยใช้ดัชนีความแห้งแล้ง Standardized Precipitation Index (SPI)

Main Article Content

วรลักษณ์ ไก่งาม
ชาคริต โชติอมรศักดิ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์คุณลักษณะของภัยแล้งบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยทั้งเชิงพื้นที่และเชิงเวลาช่วงปี ค.ศ.1980-2017 (38 ปี) โดยวิเคราะห์จากค่าดัชนีความแห้งแล้ง Standardized Precipitation Index (SPI) ในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ของทุกปี ข้อมูลที่ใช้ประกอบไปด้วยข้อมูลน้ำฝนรายเดือนจากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา 31 สถานี และข้อมูลน้ำฝนรูปแบบกริดจาก Climatic Research Unit (CRU) จากผลการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลฝนรายเดือนจากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยาและข้อมูลกริดน้ำฝนจาก CRU พบว่ามีค่าสูงอยู่ในช่วง 0.826-0.983 ซึ่งแสดงว่าข้อมูล CRU สามารถใช้เป็นตัวแทนข้อมูลตรวจวัดได้ ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงใช้ข้อมูลฝนรูปแบบกริดจาก CRU ทั้งหมด 78 กริดครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือเพื่อคำนวณดัชนี  SPI ใน 2 ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน คือดัชนี SPI ราย 3 เดือน (SPI3) เพื่อวิเคราะห์ภัยแล้งในช่วงต้นฤดูฝน และดัชนี SPI ราย 6 เดือน (SPI6) เพื่อวิเคราะห์ภัยแล้งตลอดช่วงฤดูฝน จากการวิเคราะห์ค่าดัชนี SPI3 ของเดือนกรกฎาคม (ค่าเฉลี่ยของเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม) พบปีที่เกิดภัยแล้งตั้งแต่ระดับความแห้งแล้งรุนแรงถึงรุนแรงมาก (SPI3 ≤ -1.50) ทั้งหมด 14 ปี โดยปี ค.ศ.1987 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 25% ของพื้นที่ศึกษา และปี ค.ศ.2015 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 75% ของพื้นที่ศึกษา ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ค่าดัชนี SPI6 ของเดือนตุลาคม (ค่าเฉลี่ยของพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม) พบปีที่เกิดภัยแล้งตั้งแต่ระดับความแห้งแล้งรุนแรงถึงรุนแรงมาก (SPI6 ≤ -1.50) ทั้งหมด 15 ปี โดยปี ค.ศ.1993 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 25% ของพื้นที่ศึกษา และปี ค.ศ.2015 ที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 75% ของพื้นที่ศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่าความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญระดับรุนแรงได้ส่งผลให้เกิดภัยแล้งระดับความแห้งแล้งรุนแรงถึงรุนแรงมากส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วภาคเหนือ


 

Article Details

บท
บทความวิจัย