การประยุกต์ใช้สารสกัดหยาบจากสาบเสือในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในปัจจุบันสามารถนำสาบเสือซึ่งจัดเป็นพืชรุกรานต่างถิ่นที่เป็นปัญหาต่อระบบการทำเกษตรมาประยุกต์ใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ ได้อีกทางเลือกหนึ่งเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ดังนั้นการวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาศักยภาพของสารสกัดหยาบจากสาบเสือในการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยทำการสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วน 1:10 (น้ำหนักต่อปริมาตร) เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นนำมาทดสอบความเป็นพิษต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยวิธีการฉีดพ่นที่ระดับความเข้มข้นแตกต่างกัน (0 (ควบคุม), 25, 50 และ 100 เปอร์เซ็นต์ (w/v)) ทำการทดสอบโดยใช้ตัวอย่างเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัย 25 ตัวต่อต้นกล้าข้าว 3 ต้นที่ปลูกในกระถางและครอบด้วยกล่องกระดาษ โดยในแต่ละชุดทดสอบของแต่ละความเข้มข้นพร้อมชุดควบคุมจะทำการทดสอบ 4 ช้ำและบันทึกอัตราการตายภายหลังการฉีดพ่น ที่ 24 และ 48 ชั่วโมง ตามลำดับ พบว่า สำหรับค่า LC50 ที่ 24 และ 48 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 93.573 และ 37.751 เปอร์เซ็นต์ (w/v) ตามลำดับ โดยพบว่าหลังทำการทดลองที่ 48 ชั่วโมง สารสกัดสาบเสือที่ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ (w/v) มีอัตราการตายเฉลี่ยสะสมของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ถึง 74 เปอร์เซ็นต์ และเห็นได้ว่าระยะเวลาที่แมลงสัมผัสสารมากขึ้นจะส่งผลให้มีอัตราการตายก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจึงเป็นไปได้ว่าสารสกัดจากใบสาบเสือมีฤทธิ์ต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาในครั้งนี้เป็นเพียงการค้นหาฤทธิ์เบื้องต้นในห้องปฏิบัติ หากต้องมีการนำสารสกัดที่ได้นี้ไปทดสอบในสภาพพื้นที่จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงองค์ประกอบของสาร วิธีการสกัด อัตราส่วน และรูปแบบของสารที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในสภาพพื้นที่จริงต่อไป
Article Details
บทความในวารสารเกษตรนเรศวรที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของ คณะเกษตรศาสตร์
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับคณะเกษตรศาสตต์ฯ