ความแปรปรวนของลักษณะสัณฐานในเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง จากภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย

Main Article Content

สุธิสา ฝั้นต๊ะ
อุษณรัศมิ์ รักมาก
อนุพงศ์ วงค์ตามี

บทคัดย่อ

ข้าวพื้นเมือง (Oryza sativa L.) มีความหลากหลายและความแปรปรวนของลักษณะทางสัณฐานวิทยาโดยเฉพาะในลักษณะของเมล็ด ความแตกต่างของลักษณะดังกล่าวสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และนำไปสู่การคัดเลือกพันธุ์ของเกษตรกรต่อไป การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความหลากหลายของลักษณะสัณฐานวิทยาในเมล็ดข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาในเมล็ดข้าวจำนวน 10 ลักษณะ พบความหลากหลายทั้งภายในและระหว่างพันธุ์ ในลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ดข้าวพื้นเมืองในภาคเหนือตอนล่าง โดยข้าวพื้นเมืองนาสวนมีค่าความหลากหลายรวม (H’=1.426) สูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ข้าวพื้นเมืองไร่และข้าวพื้นเมืองนาน้ำตามลำดับ (H’=1.016 และ0.291 ตามลำดับ) นอกจากนี้พบความแปรปรวนของลักษณะทางปริมาณของลักษณะเมล็ดข้าวระหว่างข้าวพื้นเมืองนาสวน ไร่ และนาน้ำลึก โดยข้าวพื้นเมืองนาสวนมีความยาวของเมล็ดมากที่สุด (10.39 มิลลิเมตร) ส่วนข้าวพื้นเมืองไร่มีความกว้าง ความหนาของเมล็ด และน้ำหนัก 100 เมล็ดมากที่สุด (3.23 และ 2.19 มิลลิเมตร และ 3.33 กรัม ตามลำดับ) เมื่อจำแนกตามลักษณะรูปร่างเมล็ดข้าว สามารถแบ่งออกได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่มีรูปร่างเมล็ดเรียว-ยาวมาก (2) กลุ่มที่มีรูปร่างเมล็ดเรียว-ยาว (3) กลุ่มที่มีรูปร่างเมล็ดขนาดกลาง-ยาวมาก และ (4) กลุ่มที่มีรูปร่างเมล็ดขนาดกลาง-ยาว จากผลการศึกษาในครั้งนี้เกิดจากการคัดเลือกของเกษตรกรและการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมท้องถิ่น การทำความเข้าใจในความแปรปรวนและความหลากหลายของลักษณะสัณฐานวิทยาในเมล็ดข้าว สามารถใช้เป็นแนวทางการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในสภาพท้องถิ่นนอกสภาพท้องถิ่น และยังนำแหล่งพันธุกรรมมาใช้ประโยชน์ ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในอนาคต

Article Details

บท
บทความวิจัย