ประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชมีโซไตรโอนผสมอาทราซีนต่อการควบคุมวัชพืชในอ้อย

Main Article Content

nattachai thawutum

บทคัดย่อ

วัชพืชแก่งแย่งแข่งขันน้ำ ธาตุอาหารและแสงในการผลิตอ้อย ส่งผลให้ผลผลิตและคุณภาพลดลง การจัดการวัชพืชด้วยสารกําจัดวัชพืชเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมมากที่สุด เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว มีต้นทุนคุ้มค่าที่สุด สารมีโซไตรโอนผสมพรีมิกซ์กับอาทราซีนเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนในข้าวโพด มีกลไกการทำลายพืชคือยับยั้งการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์และการสังเคราะห์แสงสอง เป็นสารเลือกทำลายไม่มีผลต่อข้าวโพด และพืชปลูกตระกูลหญ้า งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชของมีโซไตรโอนพรีมิกซ์อาทราซีน (มีโซไตรโอน/อาทราซีน 2.5+25% SC) วางแผนการทดลองแบบสุ่มบล็อกสมบูรณ์ 4 ซ้ำ จำนวน 8 กรรมวิธี ได้แก่ T1) ไม่กำจัดวัชพืช T2) กำจัดวัชพืชด้วยจอบ T3) มีโซไตรโอน/อาทราซีน อัตรา 165 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่น 1 ครั้ง T4) มีโซไตรโอน/อาทราซีน+อามีทรีน อัตรา 165 + 200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่น 1 ครั้ง T5) อาทราซีน+อามีทรีน อัตรา 200 + 200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่น 1 ครั้ง T6) มีโซไตรโอน/อาทราซีน อัตรา 165 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่น 2 ครั้ง T7) มีโซไตรโอน/อาทราซีน+อามีทรีน อัตรา 165 + 200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่น 2 ครั้ง T8) อาทราซีน+อามีทรีน อัตรา 200 + 200 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ ฉีดพ่น 2 ครั้ง ผลการทดลองพบว่า การใช้สารกำจัดวัชพืช 2 ครั้ง (T6-T8) ควบคุมวัชพืชได้ดีกว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชเพียงครั้งเดียว (T3-T5) ที่ 4 สัปดาห์หลังฉีดพ่น พบว่า มีโซไตรโอน/อาทราซีน+อามีทรีน (T4, T7) แสดงประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชสูงกว่ากรรมวิธีการอื่น ๆ รองลงคือ อาทราซีน+อามีทรีน (T5, T8) และ มีโซไตรโอน/อาทราซีน (T3, T6) ตามลำดับ ทุกกรรมวิธีไม่แสดงความเป็นพิษต่ออ้อย ผลผลิตอ้อยของกรรมวิธี T1 – T8 เท่ากับ 14.2, 3.7, 7.7, 6.7, 6.8, 15.4 และ 13.2 ตัน/ไร่ ตามลำดับ ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า มีโซไตรโอนผสมพรีมิกซ์กับอาทราซีน ควรมีการผสมกับสารอามีทรีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชในอ้อย และควรมีการฉีดพ่น 2 ครั้ง

Article Details

บท
บทความวิจัย