ปัจจัยทำนายการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำในผู้ป่วยหลังผ่าตัดจากการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย

ผู้แต่ง

  • อัชฌาณัฐ วังโสม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • อุษา วงษ์อนันต์
  • ประไพ ผลอิน
  • อำภาพร นามวงศ์พรหม
  • น้ำอ้อย ภักดีวงศ์

คำสำคัญ:

ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ, การระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย, ปัจจัยด้านผู้ป่วย, ปัจจัยด้านการระงับความรู้สึก, ปัจจัยด้านการผ่าตัด

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบบรรยายเชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และทำนายการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำในผู้ป่วยหลังผ่าตัดจากการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย กลุ่มตัวอย่างเป็นเวชระเบียนของผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนตุลาคม 2560 เลือกแบบเฉพาะเจาะจง เป็นผู้ที่มีและไม่มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ จำนวน 163 และ 329 ราย ตามลำดับ รวบรวมข้อมูลจากแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับการระงับความรู้สึก ข้อมูลการผ่าตัดและค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนเลือด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยาย ไคสแควร์ และวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิ

ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และทำนายการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านผู้ป่วย ประกอบด้วย วัยสูงอายุ (OR 9.161, 95%CI 3.392-24.741) ภาวะโภชนาการระดับอ้วน (OR 16.770, 95%CI 3.798-74.038) การสูบบุหรี่ (OR 3.559, 95%CI 1.204-10.526) สภาพก่อนระงับความรู้สึก ASA ระดับ 3 (OR 11.603, 95%CI 2.882-46.709) และอุณหภูมิร่างกายก่อนผ่าตัด (OR 0.220, 95%CI 0.068-0.709) 2) ปัจจัยด้านการระงับความรู้สึกมีเพียงระยะเวลาระงับความรู้สึก 121-180 นาที (OR 38.967, 95%CI 10.153-149.553) และ 3) ปัจจัยด้านการผ่าตัด ประกอบด้วย ปริมาณสารน้ำที่ได้รับทดแทนทางหลอดเลือดดำจำนวนมากกว่า 2,000 มิลลิลิตร (OR 95.190, 95%CI 4.704-1926.337) และได้รับเลือดทดแทน (OR 6.173, 95%CI 1.900-20.052) โดยร่วมทำนายการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำร้อยละ 66.0 ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย วิสัญญีพยาบาลควรเฝ้าระวังการเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำในผู้ป่วยที่สูงอายุ ภาวะอ้วน ประวัติการสูบบุหรี่และได้รับการผ่าตัดเป็นระยะเวลานานกว่า 120 นาที 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-24