ผลของโปรแกรมการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองตามหลัก 12 ขั้นตอนต่อการหยุดดื่มของผู้ติดสุรา

Main Article Content

สุรัช สุนันตา
วงเดือน สุนันตา
วิไล ทิพย์นันท์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดผลก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการบำบัดด้วยโปรแกรมการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองตามหลัก 12 ขั้นตอนต่อการหยุดดื่มของ   ผู้ติดสุราซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเก็บข้อมูลระหว่างระหว่างเดือน มีนาคม – กรกฎาคม พ.ศ.  2562 กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยโรคติดสุราชาย จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป 2) แบบบันทึกการดื่มสุรา และ3) โปรแกรมการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองตามหลัก 12 ขั้นตอน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา Wilcoxon Matched – Pairs Signed – Ranks test และ Mann Whitney U Test ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีอายุเฉลี่ย 39 ปีและ41 ปี เข้ารับการรักษาเฉลี่ย 11และ9 ครั้ง ส่วนใหญ่มีคู่สมรส จบการศึกษาระดับประถมศึกษาและว่างงาน มีอายุเฉลี่ยการดื่มสุรา ครั้งแรก 18 ปี สาเหตุที่ดื่มส่วนใหญ่คือเพื่อนชวน ชนิดสุราที่ดื่มเป็นสุราขาว ระยะเวลาที่ติดสุราอยู่ในช่วง 6-10 ปี ส่วนใหญ่เคยหยุดสุราได้น้อยกว่า 6 เดือน โดยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนวันหยุดดื่มภายหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .001 และมีค่าเฉลี่ยร้อยละของจำนวนวันดื่มหนักภายหลังการทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .001 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองตามหลัก 12 ขั้นตอน มีประสิทธิผลต่อการหยุดดื่มและการดื่มหนักของผู้ติดสุรา ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของร้อยละจำนวนวันหยุดดื่มและค่าเฉลี่ยของร้อยละจำนวนวันดื่มหนักในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน อาจเนื่องจากกลุ่มควบคุมได้รับการบำบัดในรูปแบบอื่น ๆ ที่ให้ผลใกล้เคียงกัน

Article Details

บท
Research article