การประดิษฐ์ยาสีร้อนสำหรับงานเครื่องประดับจากการใช้วัตถุดิบหลัก (แร่ควอตซ์) ในแหล่งจังหวัดจันทบุรี

ผู้แต่ง

  • สุรพงษ์ ปัญญาทา Faculty of Industrial Technology, Rambhai Barni Rajabhat University, Thailand
  • ภัทรา ศรีสุโข
  • ภัทรบดี พิมพ์กิ

คำสำคัญ:

ยาสีร้อน, การเคลือบลงยา, เครื่องประดับ, แร่ควอตซ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประดิษฐ์ยาสีร้อนสีเขียวที่มีเฉดสีเทียบเคียงกับยาสีร้อนที่นำเข้าจากต่างประเทศหรือสร้างเฉดสีเขียวใหม่ จากการใช้แหล่งวัตถุดิบซิลิกาภายในประเทศ จากแหล่งแร่ควอตซ์ ในตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยจะทำการศึกษาสมบัติต่าง ๆ ของยาสีร้อนสีเขียวที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากนั้นจะทำการประดิษฐ์ยาสีร้อนสีเขียว โดยจะมีการปรับสัดส่วนวัตถุดิบตั้งต้นอ้างอิงตามข้อมูลที่วิเคราะห์ได้จากยาสีร้อนสีเขียวที่นำเข้าจากต่างประเทศและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะนำต้นแบบยาสีร้อนที่ประดิษฐ์ได้มาเคลือบลงบนแผ่นโลหะทองแดงเพื่อทดสอบความสามารถในการยึดติดกับแผ่นโลหะทองแดง ลักษณะผิวเคลือบและดูเฉดสีที่ปรากฏจากการสังเกต ผลการทดลองพบว่า องค์ประกอบทางเคมีของยาสีร้อนสีเขียวที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีตะกั่วเป็นองค์ประกอบหลัก มากกว่า 70 %w/w จึงจัดได้ว่าเป็นแก้วตะกั่ว และมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวฟอร์เมอร์ทำให้เกิดเป็นแก้ว โดยมีโครเมียมออกไซด์และคอปเปอร์ออกไซด์เป็นสารทำหน้าที่ให้สีเขียว โดยงานวิจัยนี้สามารถประดิษฐ์ยาสีร้อนสีเขียวที่มีเฉดสีเขียวเข้มได้จากสัดส่วนวัตถุดิบตั้งต้น สูตรที่ 5 โดยมีเหล็กออกไซด์และคอปเปอร์ออกไซด์เป็นตัวที่สร้างแก้วให้มีสีเขียว พร้อมทั้งสามารถนำมาเคลือบลงยาสีร้อนบนแผ่นโลหะทองแดงได้โดยไม่เกิดการแตกร้าวและไม่หลุดออกจากตัวแผ่นโลหะ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-06-30