This is an outdated version published on 26-04-2021. Read the most recent version.

การเพิ่มสมรรถนะการผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของเป็ดบาบารี่โดยการใช้ออโตไลซิสยีสต์เสริมในอาหาร

ผู้แต่ง

  • นิรุจน์ พันธ์ศรี กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดบุรีรัมย์
  • ชยพล มีพร้อม คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

คำสำคัญ:

เป็ดเนื้อ, ออโตไลซิสยีสต์, สมรรถนะการผลิต, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

บทคัดย่อ

     แนวโน้มของการใช้พรีไบโอติกเพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีการนำผลพลอยได้หรือผลผลิตร่วมจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรที่มีคุณสมบัติในการเป็นพรีไบโอติกสำหรับสัตว์มาใช้โดยคาดหวังให้สัตว์มีการเจริญเติบโตที่ดีซึ่งออโตไลซิสยีสต์เป็นหนึ่งในพรีไบโอติกที่ได้มีการศึกษาถึงคุณสมบัติในการช่วยให้สัตว์มีการเจริญเติบโตที่ดี วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้จึงศึกษาการนำออโตไลซิสยีสต์เสริมในอาหารของเป็ดบาบารี่ต่อสมรรถนะการเจริญเติบโต โดยใช้เป็ดบาบารี่คละเพศอายุ 10 วัน น้ำหนักตัวเฉลี่ย 59.03±5.86 กรัม จำนวน 96 ตัว ถูกนำมาจัดแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 4 ซ้ำ ๆ ละ 6 ตัว ประกอบด้วยกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่เสริมออโตไลซิสยีสต์ที่ระดับ 0.1 0.2 และ 0.3 เปอร์เซ็นต์ในอาหาร ระยะเวลาการทดลองออกเป็น 4 ช่วง คือช่วงที่ 1 สัปดาห์ที่ 1-2 ช่วงที่ 2 สัปดาห์ที่ 3-4 ช่วงที่ 3 สัปดาห์ที่ 5-6 และช่วงที่ 4 สัปดาห์ที่ 7-8 ผลการทดลองพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 2 การเสริมออโตไลซิสยีสต์ที่ระดับ 0.1 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มการเจริญเติบโตดีที่สุด (p<0.10) อย่างไรก็ตามเมื่อเสริมออโตไลซิสยีสต์มากกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีแนวโน้มของน้ำหนักตัวและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่ากลุ่มควบคุม การเสริมออโตไลซิสยีสต์ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 พบว่ามีการเจริญเติบโตที่สูงสุดและมีการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวดีกว่ากลุ่มควบคุม (p<0.05) นอกเหนือจากนั้นยังพบว่าเป็ดบาบารี่ที่เสริมออโตไลซิสยีสต์ที่ระดับ 0.1 เปอร์เซ็นต์มีราคาในการจำหน่ายและกำไรสูงที่สุด (p<0.05) จึงสามารถสรุปได้ว่าปริมาณที่เหมาะสมต่อการเสริมออโตไลซิสยีสต์อยู่ที่ระดับ 0.1 เปอร์เซ็นต์ให้ผลต่อสมรรถนะการผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด

เผยแพร่แล้ว

26-04-2021

Versions