จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวารสาร
จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวารสาร
วารสารเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่งานวิจัยและบทความทางวิชาการด้านการเกษตร โดยมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานคุณภาพด้านวิชาการ การตีพิมพ์ และด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความให้ถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ วารสารเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้กำหนดบทบาทและจริยธรรมวารสารดังต่อไปนี้
- บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ
1.1 บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพของบทความที่ส่งมาเพื่อตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความให้เป็นไปตามขอบเขต วัตถุประสงค์ และมาตรฐานของวารสาร ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพบทความในกระบวนการประเมินก่อนการตีพิมพ์
1.2 บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการ มาพิจารณาบทความด้วยความเป็นธรรม ปราศจากอคติหรือความลำเอียงต่อบทความ และผู้นิพนธ์ ทั้งในด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัฒนธรรม การเมือง อุดมคติ และสังกัดของผู้นิพนธ์ และต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
1.3 บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบบทความในด้านความซ้ำซ้อนหรือในด้านการคัดลอกผู้อื่น (Plagiarism) โดยใช้โปรแกรมตรวจสอบความซ้ำซ้อน หากตรวจสอบพบความซ้ำซ้อนหรือการคัดลอกผลงานของผู้อื่น บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ
1.4 บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
1.5 บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์
1.6 บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด และต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยเสมอ
1.7 บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการขออนุญาตรับรองจริยธรรมในสัตว์ทดลองหรือจริยธรรมในมนุษย์ เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้น ๆ
- บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์
2.1 ผลงานของผู้นิพนธ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน รวมถึงไม่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในสิ่งตีพิมพ์อื่น
2.2 ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และหากมีการนำผลงานผู้อื่นมาอ้างอิงในผลงานของตนเอง ต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอหรืออ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเอง และต้องจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด
2.3 ผู้นิพนธ์ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลที่สามอย่างชัดเจนในการผลิตซ้ำเนื้อหาและรูปภาพ (text and image) ที่มีลิขสิทธิ์
2.4 หากผลงานทางวิชาการของผู้นิพนธ์เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ ผู้เข้าร่วม หรืออาสาสมัคร ผู้นิพนธ์ต้อง ตรวจสอบให้แน่ชัด ว่าได้ดำเนินการตามหลักจริยธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องได้รับความยินยอมก่อนการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกครั้ง
2.5 ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำการเตรียมต้นฉบับ”
2.6 ผู้นิพนธ์ควรระบุแหล่งทุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) ให้ชัดเจนในต้นฉบับ
2.7 ชื่อผู้นิพนธ์ที่ปรากฏในบทความ ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในผลงานวิชาการนี้จริง
- บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ
3.1 ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริง
3.2 ผู้ประเมินควรมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพของบทความต้นฉบับ โดยการประเมินต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
3.3 ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินต้องแจ้งต่อบรรณาธิการทันทีหากมีข้อสงสัยว่าบทความที่ตนประเมินนั้นเป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น หรือซ้ำซ้อนกับที่ได้ประเมินให้วารสารวิชาการอื่น
3.4 ผู้ประเมินต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด ไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้ ในระยะของการประเมิน หรือจนกว่าบทความได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารอย่างเป็นทางการ
3.5 ผู้ประเมินต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน