อิทธิพลของระบบการให้น้ำต่อองค์ประกอบผลผลิตของข้าวไม่ไวแสง 3 พันธุ์

Main Article Content

การันต์ ผึ่งบรรหาร

บทคัดย่อ

การทำนาส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทำนาแบบดั้งเดิม โดยใช้น้ำขังตลอดฤดูการปลูก ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากการรั่วซึมและระบายน้ำทิ้ง เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ การให้น้ำระบบสปริงเกลอร์เป็นการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงกับพืชหลายชนิด สามารถประหยัดน้ำได้มากกว่า และควบคุมจังหวะการให้น้ำได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น จึงทำการศึกษาอิทธิพลของระบบการให้น้ำต่อองค์ประกอบผลผลิตของข้าวไม่ไวแสง 3 พันธุ์ทำการวางแผนการทดลองแบบ 3 x 2 factorial in Randomized complete block design (RCBD) ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม 2561 ณ แปลงนาสาธิตทางการเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ต่อการเจริญเติบโตของข้าวไม่ไวแสง 3 พันธุ์ ได้แก่ข้าวพันธุ์ กข29 พิษณุโลก2 และปทุมธานี1 ภายใต้การให้น้ำที่แตกต่างกัน 2 วิธี คือ การให้น้ำท่วมขังหลังข้าวงอก 7 วันโดยให้น้ำท่วมขังที่ระดับ 5 - 10 เซนติเมตร ตลอดฤดูกาล และการให้น้ำสปริงเกลอร์ วันละ 1 ชั่วโมง พบว่า พันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์และปฏิสัมพันธ์ร่วม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p ≤ 0.05) ในด้านความสูง จำนวนต้นต่อกอ จำนวนเมล็ดต่อรวง เปอร์เซ็นต์เมล็ดดี เปอร์เซ็นต์เมล็ดเสีย น้ำหนัก 1,000 เมล็ด และผลผลิตต่อไร่ สำหรับวิธีการให้น้ำท่วมขังและสปริงเกลอร์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p ≤ 0.05) ในด้านความสูง จำนวนเมล็ดต่อรวง และผลผลิตต่อไร่

Article Details

บท
บทความวิจัย