จริยธรรมการตีพิมพ์
วารสารเกษตรพระวรุณเป็นวารสารวิชาการด้านเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ของคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารผลงานวิชาการตลอดจนองค์ความรู้ที่ค้นพบใหม่ ๆ ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย และสังคมภายนอก ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการไว้ดังนี้
ผู้นิพนธ์ที่ส่งบทความมายังวารสารเกษตรพระวรุณต้องรับรองว่าบทความของตนเองเป็นผลงานต้นฉบับ และไม่ได้ตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ผู้นิพนธ์ต้องยืนยันว่างานวิจัยที่ส่งมา ไม่ได้คัดลอกหรือลอกเลียนแบบทั้งหมดหรือบางส่วนจากงานวิจัยหรือการศึกษาอื่น ๆ ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือผลประโยชน์บางส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทความดังกล่าว
วารสารเกษตรพระวรุณจะตรวจสอบการลอกเลียนแบบในบทความที่ส่งทั้งหมดก่อนที่จะตีพิมพ์ หากตรวจพบการลอกเลียนแบบในขั้นตอนใด ๆ ของกระบวนการตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์จะได้รับคำสั่งให้เขียนต้นฉบับใหม่ การส่งผลงานทุกครั้งจะถูกตรวจสอบโดยใช้โปรแกรม Turnitin เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ หากต้นฉบับใดมีผลตรวจการลอกเลียนแบบถึง 35% บทความดังกล่าวจะถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ในวารสารเกษตรพระวรุณและแจ้งให้ผู้นิพนธ์ทราบ กองบรรณาธิการขอแนะนำอย่างยิ่งให้ผู้นิพนธ์ตรวจสอบเนื้อหาบทความก่อนส่งเพื่อตีพิมพ์
วารสารเกษตรพระวรุณมีความมุ่งมั่นที่จะตรวจสอบบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ด้วยความเป็นกลาง ยุติธรรม และป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงหรือที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความ
ความรับผิดชอบของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการวารสารเกษตรพระวรุณมีความเป็นอิสระในการประเมินและการตัดสินใจในวารสาร ไม่มีปัจจัยภายนอกหรือภายในที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของกองบรรณาธิการได้ หากมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกองบรรณาธิการและผู้นิพนธ์หรือสถาบันต้นสังกัดของผู้นิพนธ์ในแง่ของความร่วมมือหรือการแข่งขันที่อาจส่งผลต่อการประเมินบทความ จะมีการมอบหมายให้กองบรรณาธิการท่านอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทำหน้าที่จัดการกระบวนการประเมินผลบทความนั้นแทน
บรรณาธิการจะจัดให้มีการประเมินบทความที่ส่งมาตีพิมพ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นอย่างน้อยสามท่าน ผลการประเมินถือเป็นที่สิ้นสุด บรรณาธิการบริหารมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจเผยแพร่ต้นฉบับบทความที่ผ่านการประเมินแล้ว
ความรับผิดชอบของผู้ประเมินบทความ
บทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความคือการประเมินเนื้อหาบทความ กระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และความเหมาะสมในตีพิมพ์ในวารสารเกษตรพระวรุณตามรูปแบบของวารสาร และการให้ความคิดเห็นของผู้ประเมินบทความเกี่ยวกับเนื้อหาต้นฉบับที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้มั่นใจว่าบทความดังกล่าวจะมีความเหมาะสมต่อการตีพิมพ์ หรือการพิจารณาปฏิเสธการตีพิมพ์ในบทความที่ไม่เหมาะสมในการตีพิมพ์ในวารสารเกษตรพระวรุณ
หากผู้ประเมินบทความที่ได้รับมอบหมายให้ประเมินบทความต้นฉบับ ไม่มีความเชี่ยวชาญในบทความที่ต้องประเมินหรือไม่สามารถประเมินบทความได้ทันตามกำหนดเวลาของวารสาร หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องแจ้งกองบรรณาธิการที่ได้รับมอบหมายเพื่อดำเนินการจัดหาผู้ประเมินบทความท่านอื่นแทน หากเนื้อหาของบทความต้นฉบับตรงกับสาขาความเชี่ยวชาญของผู้ประเมินบทความ ควรประเมินให้เสร็จสิ้นและส่งรายงานผลการประเมินให้กองบรรณาธิการตามกำหนดเวลาของวารสาร
เอกสารบทความที่กองบรรณาธิการส่งให้ผู้ประเมินบทความถือเป็น “เอกสารลับ” ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวกับบุคคลที่สาม ยกเว้นกองบรรณาธิการที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน ผู้ประเมินบทความยังคงไม่เปิดเผยข้อมูลแม้ว่าบทความต้นฉบับจะได้รับการยอมรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์ก็ตาม
ผู้ประเมินบทความควรให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความในรายงานผลการประเมินโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ความคิดเห็นทั้งหมดของผู้ประเมินบทความควรมีความชัดเจน ตรงประเด็น และเขียนในลักษณะที่ไม่รบกวนความรู้สึกของผู้นิพนธ์ ควรหลีกเลี่ยงข้อความที่ดูหมิ่นและทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อผู้นิพนธ์
ความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์
ผู้นิพนธ์ควรหลีกเลี่ยงการบิดเบือนผลการวิจัยที่อาจบ่อนทำลายความไว้วางใจในมาตรฐานของวารสารและการปฏิบัติตามหลักการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ดี
บทความต้นฉบับต้องไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารอื่นก่อนหน้านี้ (บางส่วนหรือทั้งหมดของบทความ) เว้นแต่เป็นผลงานใหม่ที่เกิดจากการนำผลงานเดิมมาวิจัยเพิ่มซึ่งผู้นิพนธ์ต้องระบุในบทความ
บทความต้นฉบับต้องเป็นการศึกษาฉบับเดียว ไม่ได้แบ่งออกเป็นหลายส่วนเพื่อเพิ่มจำนวนการส่งผลงานและส่งเข้าวารสารอื่น ๆ หรือวารสารเดียวเมื่อเวลาผ่านไป
ไม่มีการสร้างหรือดัดแปลงข้อมูล (รวมถึงรูปภาพ) เพื่อสนับสนุนข้อสรุปของผู้นิพนธ์ ไม่มีการนำเสนอข้อมูล ข้อความ หรือทฤษฎีโดยผู้อื่น เสมือนว่าเป็นผู้เขียนข้อความนั้นเอง ต้องใช้เครื่องหมายคำพูดในการคัดลอกเนื้อหาแบบคำต่อคำ
บทความต้นฉบับต้องได้รับความยินยอมในการส่งผลงานจากผู้นิพนธ์ร่วมและหน่วยงานที่รับผิดชอบของสถาบัน/องค์กรที่มีการดำเนินงานก่อนที่จะส่งให้วารสารพิจารณาตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์ร่วมที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบทความทุกคน มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันต่อผลลัพธ์ที่ได้จากการตีพิมพ์บทความ
ผู้นิพนธ์บทความวิจัยควรนำเสนอผลการวิจัยอย่างถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากเนื้อหาระเบียบวิธีวิจัยของบทความควรทำซ้ำได้ ผู้นิพนธ์จึงควรมีความชัดเจนในข้อความ และไม่ควรจงใจรายงานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือขาดหายไป
ไม่แนะนำให้ผู้นิพนธ์บทความประเภทบทความวิชาการ เขียนบทความดังกล่าว หากผู้นิพนธ์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เขียนบทความ หรือผู้นิพนธ์ไม่มีข้อมูลพื้นฐานหรือรายงานการศึกษาในอดีตที่เพียงพอ
ผู้นิพนธ์อาจถูกขอข้อมูลการวิจัยของบทความที่ยังไม่ได้รับการประมวลผลเมื่อจำเป็น (กรณีด้านจริยธรรม ฯลฯ) ดังนั้นข้อมูลการวิจัยของบทความต้นฉบับจึงควรเก็บไว้อย่างปลอดภัยเพื่อนำเสนอหากจำเป็น ระยะเวลาจัดเก็บข้อมูลการวิจัยภายหลังการตีพิมพ์ควรมีอายุอย่างน้อย 10 ปี ในกรณีที่กองบรรณาธิการร้องขอข้อมูลและผู้นิพนธ์ไม่สามารถส่งข้อมูลการวิจัยของบทความที่ยังไม่ได้รับการประมวลผลให้กองบรรณาธิการได้ กองบรรณาธิการขอสงวนสิทธิ์ในการจัดการบทความตามความเหมาะสม