การเปลี่ยนแปลงอินทรีย์คาร์บอนของดินส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายหลังได้รับการเก็บเกี่ยวอ้อย แบบไม่เผาใบ ภายใต้สภาพดินเหนียวที่ได้รับการเผาใบอย่างต่อเนื่อง

Main Article Content

วิชญ์ภาส อีสา
วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์

บทคัดย่อ

ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก แหล่งผลิตหนึ่งของฝุ่นดังกล่าวคือการเผาในที่โล่ง การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน จึงทำให้เกษตรกรเลือกวิธีการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบเผาใบ จนส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและส่งผลต่อคุณสมบัติของดิน เมื่อมีการเผาใบอ้อยจะไม่เหลือเศษซากอ้อยไว้ในแปลงปลูกทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินลดต่ำลง กิจกรรมของจุลินทรีย์ ปริมาณธาตุอาหาร และความอุดมสมบรูณ์ของดินจึงลดต่ำลงไปด้วย ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางชีวภาพและเคมีของดินบางประการที่ระยะเก็บเกี่ยวอ้อยปลูกและอ้อยตอ 1 เมื่อได้รับการเก็บเกี่ยวแบบไม่เผาใบในพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบเผาใบมาอย่างต่อเนื่อง งานทดลองมีจำนวน 4 ซ้ำ โดยใช้ T-test ในการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกรรมวิธีที่ระยะอ้อยปลูก มีจำนวน 2 กรรมวิธี ได้แก่ การเก็บเกี่ยวแบบเผาและไม่เผาใบ ที่ระยะอ้อยตอ 1 มีจำนวน 3 กรรมวิธีทดลอง ในอ้อยตอ 1 ได้แก่1) การเก็บเกี่ยวแบบเผาใบทั้งอ้อยปลูกและอ้อยตอ 1 (เผา-เผา) เป็นกรรมวิธีควบคุม 2) การเก็บเกี่ยวแบบไม่เผาใบทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยตอ 1 (ไม่เผา-ไม่เผา) 3) แปลงที่ได้รับการเผาใบในอ้อยปลูกเปลี่ยนเป็นไม่เผาใบในอ้อยตอ 1 (เผา-ไม่เผา) ผลการศึกษาพบว่าที่ระยะเก็บเกี่ยวอ้อยปลูก ไม่พบความแตกต่างทางสถิติของคุณสมบัติทางชีวภาพและเคมีของดินบางประการ แต่ที่ระยะเก็บเกี่ยวอ้อยตอ 1 พบว่ากรรมวิธีที่ 2 และ 3 ส่งผลทำให้ปริมาณมวลชีวภาพจุลินทรีย์คาร์บอนในดินเพิ่มสูงขึ้น 332.39 และ 317.60 mg/kg ตามลำดับ แตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05) นอกจากนี้กรรมวิธีที่2 ส่งผลทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้เกษตรกรเลือกวิธีการจัดการใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การผลิตอ้อยเป็นไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

Article Details

บท
บทความวิจัย