การศึกษาสายพันธุ์และคุณภาพของข้าวสายพันธุ์สีชล โดยการเปรียบเทียบคุณภาพทางเคมี กายภาพและลายพิมพ์ดีเอ็นเอกับพันธุ์ข้าวไทย

Main Article Content

กรรณิการ์ พิมพ์รส
เกศริน ฑีฆายุ
พิรดา สุดประเสริฐ

บทคัดย่อ

ข้าวสีชล เป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ได้จากการปรับปรุงสายพันธุ์โดยเกษตรกรชุมชนตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีมีลักษณะเด่นคือ เมื่อสุกข้าวจะมีความนิ่ม รสหวาน และกลิ่นหอม เมล็ดข้าวเป็นสีน้ำตาลเข้มปนขาว งานวิจัยนี้ต้องการข้อมูลพื้นฐานประจำพันธุ์ของข้าวชนิดนี้ โดยได้ศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ของข้าวสีชลเปรียบเทียบกับข้าวสายพันธุ์มาตรฐาน 10 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มข้าวเจ้าหอม (ข้าวขาวดอกมะลิ105 ปทุมธานี1 หอมคลองหลวง) กลุ่มข้าวเจ้าไม่หอม (ชัยนาท1 กข31 พิษณุโลก2 ไรซ์เบอร์รี่) กลุ่มข้าวเหนียว (กข6 ธัญสิริน ลืมผัว) พบว่า ข้าวสีชลมีปริมาณอะไมโลส และไขมันร้อยละ 5.47 และ 1.37 ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวลืมผัว ข้าวสีชลมีปริมาณโปรตีนและเถ้าร้อยละ 10.89 และ 3.29 ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ และกข6 จากนั้นทำสกัดดีเอ็นเอ และวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอของข้าวสีชล และข้าวไทยมาตรฐานทั้ง 10 ชนิด ด้วยเทคนิค SSR และจำแนกกลุ่มตามความสัมพันธ์ของข้าวสีชลกับข้าวพันธ์ไทย ได้ทั้งหมด 5 เครื่องหมาย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นข้าวเหนียวมีเครื่องหมายโมเลกุลคือ Glu23 กลุ่มที่ข้าวมีลักษณะอ่อนนุ่มหลังการหุงต้มมีเครื่องหมายโมเลกุลคือ RM3 และ RM190 กลุ่มข้าวที่มีกลิ่นหอมเมื่อหุงสุกมีเครื่องหมายโมเลกุลที่พบคือ BADH และ 3In2AP โดยที่ข้าวสีชลมีเครื่องหมายโมเลกุล Glu23 ใกล้เคียงกันกับในข้าว กข6 ธัญสิริน และข้าวลืมผัว เครื่องหมายโมเลกุล RM190 ใกล้เคียงกันกับในข้าวขาวดอกมะลิ105 และธัญสิริน เครื่องหมายโมเลกุล BADHใกล้เคียงกันกับในข้าวขาวดอกมะลิ105 และปทุมธานี1 จากการศึกษาจึงระบุได้ว่าข้าวสีชลเป็นพันธ์ข้าวเหนียวที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอมเมื่อหุงสุก

Article Details

บท
บทความวิจัย