การรับรู้และการปรับตัวของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรม การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาการรับรู้ของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) ศึกษารูปแบบการปรับตัว และทางเลือกในการปรับตัวของเกษตรกร และ 3) วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค โดยใช้แบบสอบถามทั้งแบบปลายปิดและปลายเปิด ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ในพื้นที่ 4 จังหวัดของแต่ละภูมิภาค (พิษณุโลก ลพบุรี มหาสารคามและนครศรีธรรมราช) และ Binary logistic regression ใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับตัวของเกษตรกร ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรจังหวัดลพบุรีและจังหวัดมหาสารคาม รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา สําหรับการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณนํ้าฝน พบว่า เกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก เพียงจังหวัดเดียวที่รับรู้สอดคล้องกับข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา สําหรับรูปแบบการปรับตัวของเกษตรกรทั้ง 4 จังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่เลือกปรับตัวโดยการใช้พันธุ์พืชที่มีความต้านทานต่อความแห้งแล้ง หาอาชีพอื่นนอกเหนือจากการเกษตร ขุดบ่อนํ้าเพิ่มเติม เพิ่มระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การประกันผลผลิตจากภัยธรรมชาติ และเพาะปลูกให้มีความหลากหลาย นอกจากนี้ ยังพบว่า แหล่งนํ้าสํารอง จํานวนหนี้สิน รายได้อื่นนอกเหนือจากการทํานา พื้นที่เพาะปลูก และ จํานวนสมาชิกในครัวเรือน เป็นปัจจัยสําคัญที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของเกษตรกร