ฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยและสารอาหารอนินทรีย์ละลายน้ำบริเวณปากคลองปากพยิง ในฤดูน้ำมาก ในเดือนกันยายน 2558

Main Article Content

ดำรงค์ศักดิ์ น้อยเจริญ
ศิริรัตน์ สมเชื้อ
สุดารัตน์ นิลรัตน์
สุรศักดิ์ สีชุม
ภูสิต ห่อเพชร
เจนจิรา แก้วรัตน์

บทคัดย่อ

การศึกษาฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยและสารอาหารในน้ำในคลองปากพยิงในช่วงฤดูน้ำมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปริมาณฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยและสารอาหารที่อยู่ในน้ำของคลองปากพยิง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณปากคลองจำนวน 1 จุด ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ทำการเก็บตัวอย่างน้ำทุกๆ      1 ชั่วโมง เป็นเวลา 25 ชั่วโมง (1 รอบวัน) เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารอาหารอนินทรีย์ที่ละลายน้ำและตะกอนแขวนลอย พร้อมกับวัดความเร็วของกระแสน้ำด้วยเครื่องตรวจวัดกระแสน้ำ และคำนวณหาฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยและฟลักซ์ของสารอาหาร ผลการศึกษาพบว่าฟลักซ์สุทธิของน้ำมีทิศออกสู่ทะเลในปริมาตร 22,302 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ปริมาณตะกอนแขวนลอยมีค่าอยู่ในช่วง (ค่าเฉลี่ย±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) 37.19-639.64 (279.05±171.74) กิโลกรัมต่อชั่วโมง โดยฟลักซ์สุทธิของตะกอนแขวนลอยมีทิศออกสู่ทะเลโดยมีค่าเท่ากับ 1,656 กิโลกรัมต่อวัน ปริมาณไนไตรต์ ไนเตรต แอมโมเนีย และอนินทรีย์ไนโตรเจนละลายน้ำรวมมีค่าอยู่ในช่วง (ค่าเฉลี่ย±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) คือ 11.20-35.00 (23.86±6.40), 42.00-219.80 (133.95±50.61), 0.00-134.40 (50.46±45.08) และ 22.40-350.00 (204.85±93.14) ไมโครกรัมไนโตรเจนต่อลิตร ตามลำดับ ปริมาณฟอสฟอรัส    อนินทรีย์ละลายน้ำมีค่าอยู่ในช่วง 9.30-62.00 (38.54±13.32) ไมโครกรัมฟอสฟอรัสต่อลิตร ฟลักซ์ของสาร            อนินทรีย์ไนโตรเจนละลายน้ำมีทิศออกสู่ทะเลโดยฟลักซ์สุทธิของไนไตรต์ ไนเตรต แอมโมเนีย และอนินทรีย์ไนโตรเจนละลายน้ำรวมมีค่าเท่ากับ 0.808, 6.700, 5.553 และ 13.670 กิโลกรัมไนโตรเจนต่อวัน ตามลำดับ ฟลักซ์สุทธิของฟอสฟอรัสละลายน้ำมีค่าเท่ากับ 2.069 กิโลกรัมฟอสฟอรัสต่อวัน  ฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทิศทางของกระแสน้ำ ปริมาตรน้ำ ความเข้มข้นของ ปริมาณสารอนินทรีย์ไนโตรเจนละลายน้ำ (แอมโมเนียและไนไตรต์) สารอนินทรีย์ฟอสฟอรัสละลายน้ำ ฟลักซ์ของไนไตรต์ ฟลักซ์ของแอมโมเนีย ฟลักซ์       ของอนินทรีย์ฟอสฟอรัส และฟลักซ์ของอนินทรีย์ไนโตรเจนละลายน้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01              มีความสัมพันธ์เชิงลบกับค่าความเป็นกรด-ด่าง และออกซิเจนละลายน้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 นอกจากนี้ ฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยยังมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความเข้มข้นของไนเตรตและมีความสัมพันธ์      เชิงลบกับเวลาที่เก็บตัวอย่าง ความลึกของระดับน้ำและความเค็มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากการทดลองพบว่าสารอาหารส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาจากบนบกและถูกพัดพาออกสู่ทะเลโดยวัฏจักรน้ำขึ้น-น้ำลงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการไหลเวียนและพัดพาธาตุอาหารเข้าและออกจากแม่น้ำลำคลอง ฟลักซ์ของสารอาหารจะมีค่าสูงในช่วงน้ำลง และจะมีความเข้มข้นต่ำในขณะน้ำขึ้น ปริมาณสารแขวนลอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและลดลงในช่วงรอยต่อของ      น้ำขึ้น-น้ำลงและฟลักซ์ของตะกอนแขวนลอยสุทธิมีทิศทางออกสู่ทะเล

Article Details

บท
บทความวิจัย