การประยุกต์ใช้โรงเรือนปลูกพืชสำหรับอบแห้งกล้วยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

Main Article Content

พิมพ์พรรณ ปรืองาม
ศิวลักษณ์ ปฐวีรัตน์
วัชรพล ชยประเสริฐ

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดัดแปลงโรงเรือนปลูกพืชที่หุ้มด้วยโพลีคาร์บอเนต มาประยุกต์ใช้ในการอบแห้งกล้วยตากโดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ การอบแห้งในโรงเรือนมี 2 ลักษณะ คือ (1) แบบฐานเปิด โดยยกโรงเรือนให้สูงจากพื้น และ (2) แบบฐานปิด จะใช้พลาสติกโพลีเอทธิลีนสีดำปิดด้านล่างจำกัดช่องเข้าออกของอากาศ เปรียบเทียบกับการตากกลางแจ้ง ความชื้นเริ่มต้นของกล้วยประมาณ 75% (w.b.) และความชื้นสุดท้ายของกล้วยตากที่ต้องการคือ 56.5% (w.b.) ซึ่งเป็นความชื้นที่อยู่ในช่วงของกล้วยตากที่วางจำหน่าย ทำการทดลองตั้งแต่ 8.00 น. ถึง 16.00 น. เป็นเวลา 5 วัน ผลทดลองพบว่า กล้วยที่อบแห้งในโรงเรือนแบบฐานปิด โรงเรือนแบบฐานเปิด และตากกลางแจ้งมีความชื้นสุดท้ายเท่ากับ 52.8% (w.b.) 58.8% (w.b.) และ 59.2% (w.b.) ตามลำดับ เนื่องมาจากในโรงเรือนแบบฐานปิดมีความชื้นสัมพัทธ์อากาศต่ำที่สุด และมีอุณหภูมิในโรงเรือนสูงสุด จึงลดความชื้นได้มากที่สุด ในขณะที่โรงเรือนแบบฐานเปิดมีสภาพในโรงเรือนคล้ายคลึงกับการตากกลางแจ้งจึงทำให้ความชื้นสุดท้ายของกล้วยใกล้เคียงกัน การอบแห้งในโรงเรือนแบบฐานปิดมีประสิทธิภาพเชิงความร้อนสูงกว่าโรงเรือนแบบฐานปิด และตากกลางแจ้งเท่ากับ 29.2% และ 34.9% ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย