การวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และเส้นทางอพยพ : กรณีศึกษาบริเวณเขตน้ำท่วมลุ่มน้ำย่อยคลองนาทวี จังหวัดสงขลา

Main Article Content

thidapath Anucharn

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และเส้นทางในการอพยพออกจากเขตน้ำท่วม บริเวณลุ่มน้ำย่อยคลองนาทวี จังหวัดสงขลา ด้วยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการวิเคราะห์โครงข่าย โดยการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการอพยพออกจากเขตน้ำท่วมจากปัจจัยทางกายภาพ 7 ปัจจัย ได้แก่ เส้นทางถนน เส้นทางน้ำ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่น้ำท่วม การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดิน ความลาดชัน  และความสามารถในการระบายน้ำของพื้นผิวดิน ด้วยการกำหนดค่าถ่วงน้ำหนักของแต่ละปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดลำดับความสำคัญด้วยกระบวนการวิเคราะห์ตามลำดับชั้น และกำหนดค่าคะแนนของกลุ่มการจำแนกในแต่ละปัจจัยของพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดน้ำท่วม ด้วยวิธีการอัตราส่วนความถี่ จากนั้นนำผลรวมของค่าคะแนนที่ได้จากผลคูณของค่าน้ำหนักและค่าคะแนนมาจัดระดับความเหมาะสมของพื้นที่ต่อการอพยพ สำหรับการวิเคราะห์หาที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ผู้วิจัยได้เลือกสถานที่ คือ ที่ว่าการอำเภอ มัสยิด วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาล และโรงเรียน โดยพิจารณาจากจุดศูนย์กลางของแต่ละตำบลและตำแหน่งหมู่บ้านด้วยการวิเคราะห์แบบตะแกรงไปยังตำแหน่งที่ใกล้ที่สุด ท้ายสุดจัดทำเส้นทางการอพยพ และแสดงผลข้อมูลผ่าน Google Earth ผลการศึกษา พื้นที่เหมาะสมต่อการอพยพมากที่สุด มาก ปานกลางน้อย และน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 28.58 15.54 30.30 18.29 และ 4.55 ตามลำดับ ส่วนสถานที่ที่เหมาะสมต่อการจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวมีจำนวน 52 แหล่ง และมีเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดให้ประชาชนเดินทางไปพักอาศัยในพื้นที่ที่ปลอดภัยได้ในระยะเวลาที่น้อยที่สุด

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. สำนักชลประทานที่ 16. แผนการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ (ฤดูฝน) พ.ศ. 2556. โครงการชลประทานสงขลา. 2556.
2. Silverman BW. Density estimation for statistics and data analysis. Published in monographs on statistics and applied Probability, London: Chapman and Hall.; 1986.
3. เกษม จันทร์แก้ว. การจัดการลุ่มน้ำ : การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำของประเทศไทย. (2546). [online], 13 กรกฎาคม 2561. https://www.ku.ac.th/kaset60/ku60/watershed.html
4. อนันตยา กองจันทร์. การวางแผนเส้นทางอพยพจากภัยน้ำท่วมโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ พื้นที่ศึกษา ตำบลพระลับ จังหวัดขอนแก่น. วารสารสมาคมสำรวจข้อมูลระยะไกลและสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย. 2559;18(ฉบับพิเศษ):243-256.
5. ธิดาภัทร อนุชาญ. การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการอพยพ และที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวจากเขตน้ำท่วม กรณีศึกษา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา. 2559; 21(3):1-14.
6. ณัฐพล จันทร์แก้ว, ณัฐวัฒน์ โพธิ์ขาว และศศิพร ผลพฤกษา. การประยุกต์ภูมิสารสนเทศเพื่อหาพื้นที่ศักยภาพในการอพยพและเส้นทางลำเลียงเคลื่อนย้าย: กรณีศึกษาการเกิดอุทกภัยจังหวัดปทุมธานี. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2557; 22(4):447-461.
7. มงคลกร ศรีวิษัย. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือพิบัติภัยกรณีศึกษาชุมชนหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี. วารสาร RSU JET. 2556; 16(2): 1-9.
8. หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่. (2555). [online], 13 ตุลาคม 2561. http://cendru.eng.cmu.ac.th/articles/46