การสกัดสารสีจากใบพืชสำหรับใช้ในการศึกษาทางสรีรวิทยาของพืช

Main Article Content

ศุภชาติ ธรรมนิติเวทย์

บทคัดย่อ

สารสีเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ในหน้าที่ต่าง ๆ รวมถึงนำมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยสารสีหลักที่พบในพืช ได้แก่ คลอโรฟิลล์ (ประกอบด้วย คลอโรฟิลล์ เอ และคลอโรฟิลล์ บี) แคโรทีนอยด์ และแอนโทไซยานิน คลอโรฟิลล์เป็นสารสีสีเขียว ทำหน้าที่ดูดกลืนพลังงานแสงอาทิตย์แล้วส่งต่อพลังงานให้โมเลกุลตัวรับอื่น จนเปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเดรตและน้ำในที่สุด แคโรทีนอยด์ดูดกลืนแสงที่ความยาวช่วงคลื่นที่คลอโรฟิลล์ไม่สามารถดูดกลืนได้ แล้วส่งต่อให้คลอโรฟิลล์เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และป้องกันคลอโรฟิลล์จากความเข้มแสงที่สูงมากเกินไป กอปรกับแอนโทไซยานินยังช่วยป้องกันคลอฟิลล์จากปริมาณความเข้มสูงที่สูงมากเกินไปเช่นกัน และยังดูดกลืนแสงสีเขียวที่สะท้อนออกจากใบพืชที่ได้รับแดดเต็มที่ แล้วส่งต่อให้คลอโรฟิลล์เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชในร่มหรือพืชที่ทนร่มได้ดี ดังนั้น ทั้งแคโรทีนอยด์และแอนโทไซยานินจึงได้ชื่อว่า “สารสีเสริม” เพราะทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมคลอโรฟิลล์ในกระบวนการสังเคราะห์แสงนั่นเอง การใช้สารสะลาย N,N-dimethylformamide (DMF) เป็นตัวทำละลายในการสกัดคลอโรฟิลล์ มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและเครื่องมือ และลดการสูญเสียคลอโรฟิลล์มากกว่าการสกัดด้วยสารละลายอะซีโตน (80% หรือ 100% acetone) เมื่อในตัวอย่างใบมีปริมาณความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ต่ำ การสกัดแอนโทไซยานินใช้สารละลาย 6M HCl:H2O:MeOH (7:23:70) เป็นตัวทำละลายแอนโทไซยานินและคลอโรฟิลล์ออกจากเนื้อเยื่อใบ หลังจากนั้นแยกคลอโรฟิลล์ออกด้วยตัวทำละลายคลอโรฟอร์ม จะได้แอนโทไซยานินบริสุทธ์ที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ผสมอยู่ หลังจากที่สกัดได้สารสีแล้วนำสารละลายสารสีที่ได้มาวัดการดูดกลืนแสงเพื่อคำนวณหาปริมาณสารสีด้วยเครื่องวัดการดูดกลืนแสง

Article Details

บท
บทความปริทัศน์