ผลของน้ำท่วมฉับพลันต่อการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสรีรวิทยาบางประการของข้าวไทยในระยะแตกกอ

Main Article Content

วรรัตน์ ชมชาติ
เทพสุดา รุ่งรัตน์

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อศึกษาผลกระทบของน้ำท่วมฉับพลันต่อการเจริญเติบโต และลักษณะทางสรีรวิทยาบางประการของข้าวในระยะแตกกอเต็มที่ โดยทำการวางแผนการทดลองแบบ 2 x 6 factorial in Completely Randomize Design (CRD) โดยมีปัจจัยแรกคือรูปแบบการปลูก มีสองระดับคือ สภาวะปกติ (ระดับน้ำสูง 2-5 เซนติเมตร เหนือผิวดิน) และ สภาวะน้ำท่วมฉับพลัน (จำลองสภาพน้ำท่วมเหนือยอดข้าว 10 เซนติเมตร) ปัจจัยที่สองคือพันธุ์ข้าว มี 6 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมชลสิทธิ์ (Chonlasit), พิษณุโลก 2 (PSL2) ปทุมธานี 1 (PT1), กข51 (RD51), กข61 (RD61) และ ข้าวขาวดอมะลิ 105 (KDML105) ผลการทดลองพบว่า สภาวะน้ำท่วมมีต่อการเพิ่มความสูงและเปอร์เซ็นต์การยืดตัวในข้าวทุกพันธุ์ แต่ลดค่าความเขียวใบในข้าวทุกพันธุ์ และลดค่าสัมประสิทธิการสังเคราะห์แสง (Fv/Fm) ของข้าวพันธุ์ Chonlasit RD51 และ KDML105 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่ออยู่ในสภาวะน้ำท่วมฉับพลันเป็นเวลา 10 วัน จากผลการทดลองระดับความทนทานน้ำท่วมในระยะแตกกอเต็มที่ พบว่า ข้าวพันธุ์ Chonlasit และ RD51 มีระดับความทนทานน้ำท่วมฉับพลันสูง ในขณะที่พันธุ์ PSL2 PT1 และ RD61 แสดงประสิทธิภาพความทนน้ำท่วมอยู่ในระดับทนทาน และ KDML105 อยู่ในระดับทนทานปานกลาง ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้เทคนิคคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซ็นท์ (chlorophyll fluores-cence) เพื่อประเมินค่าประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงในสภาวะน้ำท่วม สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการประเมินพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลันได้

Article Details

How to Cite
ชมชาติ ว. ., & รุ่งรัตน์ เ. (2020). ผลของน้ำท่วมฉับพลันต่อการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสรีรวิทยาบางประการของข้าวไทยในระยะแตกกอ. วารสารเกษตรนเรศวร, 17(1), 68–76. สืบค้น จาก https://li01.tci-thaijo.org/index.php/aginujournal/article/view/247997
บท
บทความวิจัย