การประเมินแหล่งของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในเนื้อสุกรระหว่างการขนส่ง และจัดจำหน่ายในจังหวัดพิษณุโลก

Main Article Content

อมรรัตน์ วันอังคาร
วิลาสินี อินญาวิเลิศ
ณัชนันท์ เวชสูงเนิน
พรชัย รุ่งเรือง
ภาณุพงศ์ พ่วงรอด

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหาแหล่งของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในเนื้อสุกรระหว่างการขนส่งและจัดจำหน่าย ในกระบวนการขนส่งได้สุ่มป้ายเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวยานพาหนะจำนวน 60 ตัวอย่าง คือรถจักรยานยนต์สามล้อ 30 ตัวอย่าง และรถกระบะห้องเย็น 30 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างจากซากสุกรภายหลังจากการขนส่งจำนวน 50 ตัวอย่างต่อชนิดของยานพาหนะ ในส่วนของการจัดจำหน่ายนั้นสุ่มป้ายเก็บตัวอย่างจากมือผู้จำหน่าย แผงจำหน่าย อุปกรณ์ และเก็บตัวอย่างเนื้อสุกร (เนื้อสามชั้น เนื้อสัน และเนื้อบด) จาก 5 ร้านค้า จากนั้นนำตัวอย่างมาวิเคราะห์หาปริมาณเชื้อ Total aerobic bacteria (TAB), Escherichia coli, Salmonella spp. และ Coliform ผลการศึกษาพบว่าพื้นผิวของรถจักรยานยนต์สามล้อมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย TAB และ Coliform มากกว่าเมื่อเทียบกับรถกระบะห้องเย็น (P<0.05) ทั้งนี้ในส่วนของซากสุกรที่ขนส่งโดยรถกระบะห้องเย็นที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียมากกว่าซากสุกรที่ขนส่งโดยรถจักรยานยนต์สามล้อ (P<0.05) จากการวิเคราะห์ปริมาณเชื้อแบคทีเรียของอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดจำหน่ายพบว่าเครื่องบดเนื้อมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่ามีดเป็นอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียน้อยที่สุด (P<0.05) ในส่วนของเนื้อสุกรที่จำหน่ายนั้นพบว่าเนื้อบดมีการปนเปื้อนของเชื้อ TAB, E. coli, Salmonella spp. และ Coliform มากที่สุด รองลงมาคือเนื้อสัน และเนื้อสามชั้นตามลำดับ (P<0.05) จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่าการขนส่งซากสุกรโดยไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและการขาดสุขลักษณะที่ดีในการจำหน่ายนั้นอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและการเสื่อมเสียของเนื้อสุกรได้

Article Details

บท
บทความวิจัย