การประเมินประสิทธิภาพการผลิตของแม่พันธุ์ไก่เนื้อ ไก่เล็กฮอร์นขาว และไก่โรดไอร์แลนด์แดงที่เลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทย ประสิทธิภาพการผลิตของไก่แม่พันธุ์

Main Article Content

Mattaneeya Sarakul

บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพการผลิตของแม่พันธุ์ไก่เนื้อ (Parent stock of broiler; PSB) ไก่เล็กฮอร์นขาว (White Leghorn; WL) และโรดไอร์แลนด์แดง (Rhode Island Red; RIR) ที่เลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิดของจังหวัดนครพนม การทดลองใช้ไก่สาวที่อายุ 20 สัปดาห์ ทั้งหมด 90 ตัว (PSB, n = 30; WL, n= 30; RIR, n = 30) เก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 24 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยหุ่นจำลองเชิงเส้นแบบกำหนด คือ กลุ่มพันธุกรรม (PSB WL และ RIR) และความคลาดเคลื่อนเป็นปัจจัยสุ่ม ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อทุกลักษณะที่ศึกษา โดย PSB มีปริมาณอาหารที่กินสะสม ปริมาณอาหารที่กินต่อวัน อายุเมื่อให้ไข่ฟองแรก น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก น้ำหนักไข่ฟองแรก น้ำหนักเฉลี่ยของไข่ทั้งหมด ปริมาณอาหารที่กินต่อการผลิตไข่ 1 ฟอง และต้นทุนค่าอาหารต่อการผลิตไข่ 1 ฟอง สูงกว่าไก่ WL และไก่ RIR (P<0.01) แต่อัตราการให้ผลผลิตไข่ และจำนวนไข่สะสม ต่ำกว่าไก่ WL และไก่ RIR  (P<0.05) อย่างไรก็ตาม ทุกลักษณะที่ศึกษาของไก่ WL และไก่ RIR ไม่แตกต่างกัน ยกเว้น น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก น้ำหนักไข่ฟองแรก และน้ำหนักเฉลี่ยของไข่ทั้งหมด ที่พบว่าไก่ RIR มีค่าสูงกว่าไก่ WL (P<0.05) ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงลักษณะเด่นของไก่ WL และ RIR สำหรับการให้ผลผลิตไข่ที่ดีกว่าไก่ PSB ภายใต้การจัดการ การให้อาหาร และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

Article Details

บท
บทความวิจัย