การคัดแยกลิ้นจี่พรีเมียมแบบไม่ทำลายตัวอย่างด้วยเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโคปี การคัดแยกลิ้นจี่พรีเมียมด้วย NIRS

Main Article Content

Sawinee Salabsee
สนธยา นุ่มท้วม
สุพรรณิกา อินต๊ะนนท์
ชญาณิศ ศรีงาม
เสาวลักษณ์ รุ่งแจ้ง

บทคัดย่อ

านวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการคัดแยกลิ้นจี่แบบรวดเร็วด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโคปี ดำเนินการศึกษาโดยใช้ลิ้นจี่สายพันธุ์ป้าชิดเพื่อทำการคัดแยกลิ้นจี่พรีเมียมที่มีขนาดเมล็ดลีบเนื้อเยอะออกจากลิ้นจี่ขนาดเมล็ดปกติด้วยวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก พร้อมทั้งสร้างสมการการทำนายปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ (Total soluble solid: TSS) และปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (Titratable acidity: TA) ด้วยวิธี partial least square regression นำตัวอย่างผลลิ้นจี่มาทำการวัดค่าการดูดกลืนแสงเนียร์อินฟราเรดที่ช่วงเลขคลื่น 12000-4000 cm-1 ด้วยโหมดสะท้อนกลับ โดยวัดสเปกตรัมผลลิ้นจี่ 3 ตำแหน่ง คือ ขั้วผล แก้มผล และท้ายผล ผลการทดลองพบว่าวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักสามารถแยกกลุ่มลิ้นจี่พรีเมียมออกจากลิ้นจี่ทั่วไปได้ โดยสเปกตรัมของผลลิ้นจี่ที่ตำแหน่งแก้มผลมีประสิทธิภาพในการคัดแยกเกรดลิ้นจี่ได้ดีกว่าตำแหน่งขั้วผลและตำแหน่งท้ายผล ซึ่งให้ความแม่นยำในการคัดแยกสูงสุดที่ 96.78% สำหรับประสิทธิภาพในการทำนายค่า TSS และ TA ในผลลิ้นจี่นั้นพบว่า ให้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ โดยแบบจำลองที่ดีที่สุดสำหรับการทำนาย TSS และ TA มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (R) มากกว่า 0.90 และค่าความคลาดเคลื่อนจากการทำนาย (RMSECV) เท่ากับ 0.414% และ 0.038% ตามลำดับ ดังนั้นเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโคปีจึงมีความเป็นไปได้ในการคัดแยกลิ้นจี่เกรดพรีเมียม รวมทั้งการตรวจสอบค่า TSS และ TA ของลิ้นจี่แบบรวดเร็วและไม่ทำลายตัวอย่างได้

Article Details

บท
บทความวิจัย