แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประดิษฐานพระเจ้าทันใจ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • ประทีป พืชทองหลาง

คำสำคัญ:

พระเจ้าทันใจ, การพัฒนาการท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวเชิงศาสนา

บทคัดย่อ

           การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประวัติพระเจ้าทันใจและแหล่งท่องเที่ยวประดิษฐานพระเจ้าทันใจ 2) ศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ 3) หาแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ เป็นการวิจัยแบบผสานวิธี พื้นที่วิจัย คือวัด 9 แห่งในเขตคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วัดเชียงยืน วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดพันอ้น วัดศรีเกิด วัดราชมณเฑียร วัดอินทขีลสะดือเมือง วัดเจ็ดลิน และวัดอุโมงค์มหาเถรจันทร์ กลุ่มตัวอย่าง 180 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) พระภิกษุ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่เทศบาล เจ้าหน้าที่สำนักงานการท่องเที่ยว และมัคคุเทศก์ จำนวน 30 คน ใช้การคัดเลือกแบบเจาะจง 2) นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาสักการะพระเจ้าทันใจ จำนวน 150 คน โดยใช้การคัดเลือกแบบบังเอิญ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามสำหรับเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและ แบบสัมภาษณ์กับการสนทนากลุ่มใช้เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการเขียนบรรยายเชิงพรรณนา

          ผลการวิจัยพบว่า 1) พระเจ้าทันใจในแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 9 แห่ง มีประวัติน่าเชื่อถือ เก่าแก่ สง่างาม และเป็นพระพุทธรูปที่ถูกสร้างเสร็จภายในวันเดียว 2) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เชื่อในความศักดิ์สิทธ์ของพระเจ้าทันใจและมาบูชาเพื่อขอโชคลาภ วัตถุที่ใช้ในการบูชา คือ ดอกมะลิและพวงมาลัย  โดยส่วนมากมาบูชาปีละครั้ง โดยมากับครอบครัว 3) สำหรับแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจทั้ง 9 แห่ง มี 3 แนวทาง คือ 3.1) ด้านประวัติ ควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์หรือทำป้ายประวัติพระเจ้าทันใจให้นักท่องเที่ยวทราบถึงความสำคัญ 3.2) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและที่ตั้ง ควรให้ความสำคัญกับที่ตั้งให้มีจุดเด่น และป้ายบอกที่ตั้งพระเจ้าทันใจ 3.3) ด้านความเชื่อ ควรมีผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับประวัติและพิธีกรรมที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้าทันใจ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

07-12-2017