บรรณาธิการแถลง

ผู้แต่ง

  • ณพัชญ์ปภา สว่างนุวัตรกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

บทคัดย่อ

          วารสารจันทรเกษมสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ชาย โพธิสิตา เขียนบทความพิเศษเรื่อง การเสริมสร้าง สุขภาวะแนวพุทธ โดยอาจารย์พยายามจะหาคำตอบจากคำถามท้าทายที่ว่า “ศาสนายังมีประโยชน์ และจําเป็นสําหรับชีวิตสมัยใหม่อยู่หรือไม่” โดยการค้นหาหลักพุทธธรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ในการเสริมสร้างสุขภาวะ ซึ่งอาจารย์ได้ค้นพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ หลักภาวนาสี่ ที่มีความเหมาะสม และเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะทั้งสี่ด้าน ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา

          ในวารสารจันทรเกษมฉบับนี้ ประกอบด้วยบทความวิจัย จำนวน 9 เรื่อง และบทความวิชาการ จำนวน 1 เรื่อง โดยนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อวงวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เริ่มจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกยังให้ความสนใจเพราะ ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต บทความที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ถูกนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างกันไป เช่น บทความเรื่อง “การแจกแจงค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ก่อนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก” ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการกำหนดราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ยังถูกสะท้อนผ่านมุมมองของอาชีพนักดนตรี และผู้แสดงหนังตะลุงได้อย่างน่าสนใจ จากบทความเรื่อง “ผลกระทบและการปรับตัวในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในกลุ่มอาชีพนักดนตรี” และบทความวิชาการเรื่อง “ระบายออกสื่อ : เพลงหนังตะลุงสะท้อนสังคมในช่วงโควิด-19” ซึ่งทำให้เห็นมุมมอง ผลกระทบ และการปรับตัว ของคนไทยในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว

          ประเด็นด้านการศึกษาที่นำเสนอ ได้แก่ “การศึกษาเรื่องการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการจัด การเรียนการสอนด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2” และบทความวิจัยเรื่อง “ผลการใช้บอร์ดเกมที่มีต่อ ทักษะด้านภาษาอังกฤษและทัศนคติแรงจูงใจในการเรียนของนักศึกษาสาขาคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง” โดยผู้วิจัยได้นำเสนอวิธีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนตามบริบท ที่เปลี่ยนไปของผู้เรียน

          ประเด็นด้านภาษาศาสตร์ ได้แก่ “การผลิตซ้ำความเชื่อเรื่องผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ ผ่านตัวละครเอก “เติร์ด” ในนวนิยายวายออนไลน์เรื่อง “Y-DESTINY หรือเป็นที่พรหมลิขิต” ในฐานะ สื่อวัฒนธรรมประชานิยม” ซึ่งเป็นบทความที่สามารถเชื่อมโยงความเชื่อเรื่องผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ กับนิยายวาย โดยใช้การวิเคราะห์ทางภาษาได้อย่างน่าสนใจ

          ประเด็นด้านสังคมศาสตร์ ได้แก่ เรื่อง “ความสัมพันธ์ของกลยุทธ์ทางการตลาด กลยุทธ์ทาง การแข่งขันและคุณค่าตราสินค้าที่มีอิทธิพลต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียม (อาคารชุด)” เป็นบทความด้านการบริหารธุรกิจที่วิเคราะห์ประเด็นความได้เปรียบ ทางการแข่งขันของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดไว้ได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ ยังมี บทความด้านรัฐประศาสนศาสตร์ เรื่อง “การศึกษาประเด็นการร้องเรียนด้านการบริการและการบริหาร ของหน่วยงานภาครัฐของประชาชนผ่านแอปพลิเคชันดำรงธรรม Tracking ของศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดขอนแก่น” ที่ได้ศึกษาผลจากการนำแอปพลิเคชันดำรงธรรมซึ่งถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมภาครัฐ มาใช้ในการจัดการปัญหาข้อร้องเรียนในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนบทความเรื่อง “ปัจจัยที่ ส่งผลกระทบต่อความสุข : บทบาทของกลุ่มสมาชิกที่มีรายได้แตกต่างกันในฐานะตัวแปรกำกับ” ศึกษา ประเด็นด้านความสุขของกลุ่มคนที่มีรายได้แตกต่างกันจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับความสุข ของกลุ่มคนทั้งสองกลุ่ม และบทความเรื่อง “ประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการโอนข้อมูลส่วนบุคคล ระหว่างประเทศตามความตกลงสหรัฐอเมริกาและยุโรปและผลกระทบต่อกฎหมายไทย” นำเสนอ ประเด็นทางกฎหมายที่ทันสมัย สอดคล้องกับประเด็นปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ประเทศไทย กำลังให้ความสำคัญในปัจจุบัน

         ทางกองบรรณาธิการขอขอบคุณเจ้าของบทความวิชาการ และบทความวิจัยทุกท่าน ที่ได้ ให้ความอนุเคราะห์ลงเผยแพร่ในวารสารจันทรเกษมสาร กองบรรณาธิการยินดีเป็นสื่อกลางที่จะเผยแพร่ ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในประเทศให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

29-12-2021