บรรณาธิการแถลง
บทคัดย่อ
วารสารจันทรเกษมสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม) พ.ศ. 2565 เป็นวารสารระดับชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) กลุ่มที่ 1 โดยวารสารจันทรเกษมสารมีความมุ่งหวังเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลทางการวิจัยและข้อมูลทางวิชาการสำหรับคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ
ในวารสารจันทรเกษมฉบับนี้ประกอบด้วยบทความวิจัย จำนวน 9 เรื่อง และบทความวิชาการ จำนวน 1 เรื่อง โดยนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อวงวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดังนี้
ประเด็นทางด้านการศึกษา ประกอบไปด้วยบทความวิชาการ เรื่อง “การเรียนรู้โดยอิงปรากฎการณ์ส่งผ่านประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิและโรงเรียนอูโลลา เมืองเอสปู ประเทศฟินแลนด์” เป็นการนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยอิงปรากฏการณ์ของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นต้นแบบเพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี ส่วนบทความวิจัยประกอบไปด้วย เรื่อง “กลยุทธ์การบริหารหลักสูตร ระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนานักศึกษาสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล” ที่ได้มีการนำเสนอกลยุทธ์การบริหารหลักสูตรโดยใช้กรอบการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีคุณลักษณะเป็นพลเมืองดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีบทความวิจัยเชิงบูรณาการองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมและการจัดการศึกษา เรื่อง “รูปแบบสถาปัตยกรรมภายในของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ที่เสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยตามการจัดการเรียนรู้แบบสมองเป็นฐาน” ที่มีการนำแนวทางการออกแบบเพื่อสร้างบรรยากาศในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยตามการจัดการเรียนรู้แบบสมองเป็นฐาน ทั้งนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารงานวิจัยของคณะศึกษาศาสตร์ ในบทความวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมกับภาคีเครือข่าย” ที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบการบริหารการวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี
ประเด็นทางด้านสังคมศาสตร์ประกอบไปด้วย บทความวิจัยด้านกฎหมาย เรื่อง “การพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการเล่นเกมออนไลน์” ที่มีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการเล่นเกมออนไลน์ โดยได้มีการเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ จำนวน 5 ประเทศ เพื่อหาข้อเสนอแนะหรือแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการเล่นเกมออนไลน์ในประเทศไทยต่อไป สำหรับบทความวิจัยด้านการบริหารประกอบด้วย (1) บทความเกี่ยวกับการบริหารงานภาครัฐ เรื่อง “บทบาทองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานีในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี” ที่ศึกษาบทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการจัดการท่องเที่ยว
เชิงวัฒนธรรม พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาบทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และ (2) บทความเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจมากเกินไป กับผลการประเมินการปฏิบัติงานของพนักงานบริษัทเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ที่ศึกษาพฤติกรรมของพนักงานในการเรียกร้องความสนใจมากเกินไป หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าพฤติกรรม “หิวแสง” ที่ส่งผลประทบต่อการปฏิบัติงานโดยมีการนำแบบวัดบุคลิกภาพ และแบบสอบถามเชิงจิตวิทยามาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมการหิวแสงที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน ในส่วนของบทความวิจัยด้านสื่อสารมวลชน ศึกษาเรื่อง “การสื่อสารสุขภาพเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร ทางสื่อออนไลน์ในประเทศไทย” เป็นการศึกษากระบวนการและหาแนวทางในการสื่อสารประเด็นสุขภาพทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้กับประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ ยังมีบทความวิจัยด้านผู้สูงอายุในชุมชน เรื่อง “ภูมิปัญญาและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคอาหารพื้นบ้านล้านนาของผู้สูงอายุชุมชนเวียงท่ากาน–ยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่” ที่ได้ศึกษาการบริโภคอาหารพื้นบ้านล้านนา ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต การถ่ายทอดภูมิปัญญา และผลที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของผู้สูงอายุ
ประเด็นสุดท้าย ประเด็นทางด้านภาษาศาสตร์ ได้แก่ บทความวิจัยเรื่อง “การลดทอนคุณค่าตนเองของเพศชายผ่านการใช้อุปลักษณ์ในเพลงลูกทุ่งชายภายใต้บริบทสังคมแบบชายเป็นใหญ่” ที่ได้นำเสนอสถานะสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังคงปรากฏให้เห็นจากการศึกษากลวิธีทางภาษาจากเพลงลูกทุ่งซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายที่ผิดหวังจากคนรัก
ทางกองบรรณาธิการขอขอบคุณเจ้าของบทความวิชาการและบทความวิจัยทุกท่าน ที่ให้ความอนุเคราะห์ลงเผยแพร่ในวารสารจันทรเกษมสาร รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ให้ความอนุเคราะห์ ในการพิจารณา กลั่นกรอง และให้ข้อเสนอแนะแก่เจ้าของบทความ เพื่อให้วารสารจันทรเกษมสารได้บทความที่มีคุณภาพสำหรับผู้ที่สนใจจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
Copyright (c) 2022 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว