การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการเรียนรู้โปรแอคทีฟ เพื่อเสริมสร้างเชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัย

ผู้แต่ง

  • พัชรา พุ่มพชาติ

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, การจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการเรียนรู้โปรแอคทีฟ, เชาวน์ปัญญา, เชาวน์อารมณ์, เด็กปฐมวัย,

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการเรียนรู้โปรแอคทีฟ เพื่อเสริมสร้างเชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์สำหรับเด็กปฐมวัยโดยการวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ 1) ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน 2) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์  3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ แบบแผนที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วย 3 ลักษณะคือ  1. แบบกำหนดกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลัง 2. แบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนและหลังต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด 3. แบบกำหนดกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลังต่อเนื่องตามเวลาที่กำหนด กลุ่มตัวอย่างเป็นครูปฐมวัย จำนวน 2 คน และเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 จำนวน 30 คน ของโรงเรียน จิระศาสตร์วิทยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ระยะเวลาการจัดประสบการณ์ 12 สัปดาห์ และ 4) การประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที และข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหา เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดประสบการณ์ แบบประเมินความคิดเห็นของครูปฐมวัย แบบทดสอบและ แบบสังเกตพฤติกรรมเด็กปฐมวัย

ผลการวิจัยพบว่า 1) เด็กปฐมวัย มีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2) เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ตามรูปแบบการจัดประสบการณ์ มีความสามารถทาง เชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์ หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้รับการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์  มีความสามารถทางเชาวน์ปัญญาและเชาวน์อารมณ์มีพัฒนาการสูงขึ้นอย่างเป็นลำดับ และมีความคงทนของพฤติกรรมในระยะติดตามผลการจัดประสบการณ์ 4) ความคิดเห็นของครูปฐมวัยที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์ มีความเหมาะสม และอยู่ในระดับมาก 

Downloads