ปัจจัยที่ส่งผลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผู้แต่ง

  • อรุณี มิ่งประเสริฐ

คำสำคัญ:

ความวิตกกังวล, นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต,

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความวิตกกังวลของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 2) ศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 3) เปรียบเทียบความวิตกกังวลของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ตามตัวแปรด้าน เพศ ภูมิลำเนา รายได้ต่อเดือนของนักศึกษา สถานภาพสมรสของบิดามารดา อาชีพของผู้ปกครอง รายได้ต่อเดือนของผู้ปกครอง และที่พักอาศัยของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต ปีการศึกษา 2555 จำนวน 277 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถาม มีทั้งหมด 3 ตอนได้แก่แบบสอบถามข้อมูลส่วนตัว แบบสอบถามสุขภาพจิต (Thai GHQ30) และแบบสอบถามความวิตกกังวลวิเคราะห์ข้อมูลโดย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวและการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน

ผลการวิจัยพบว่า 1) ความวิตกกังวลของนักศึกษาอยู่ในระดับปานกลาง 2) ปัจจัยที่ไม่ส่งผลความวิตกกังวลของนักศึกษาคือภูมิลำเนา กับอาชีพของผู้ปกครองแตกต่างกัน มีความวิตกกังวลไม่แตกต่างกัน 3) รายได้ต่อเดือนของนักศึกษา สถานภาพสมรสของบิดามารดา เพศ รายได้ต่อเดือนของผู้ปกครอง และที่พักอาศัยของนักศึกษาแตกต่างกัน มีความวิตกกังวล แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 4) ปัจจัยที่ส่งผลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษา โดยเรียงจากปัจจัยที่ส่งผลน้อยที่สุดไปหาปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดมี 5 ปัจจัย ได้แก่ รายได้ต่อเดือนของนักศึกษา สถานภาพสมรสของบิดามารดา เพศ รายได้ต่อเดือนของผู้ปกครอง และที่พักอาศัยของนักศึกษา ตามลำดับ 5) นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตมีสุขภาพจิตในระดับปกติ

Downloads