มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการใช้เว็บไซต์เฟสบุ๊ค

ผู้แต่ง

  • อัครเดช มณีภาค
  • คณาธิป ทองรวีวงศ์

คำสำคัญ:

กฎหมาย, สิทธิส่วนบุคคล, เด็กและเยาวชน, เฟสบุ๊ค,

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดจากการใช้เว็บไซต์เฟสบุ๊คของเด็กและเยาวชน 2) ศึกษาปัญหาการปรับใช้กฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ 3) เสนอแนะแนวทางปรับปรุงกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยนี้ประกอบด้วยการวิจัย เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณนั้น ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือประชากรในจังหวัดกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมี 2 กลุ่มดังนี้ กลุ่มตัวอย่างในการสัมภาษณ์เชิงลึก ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้เกี่ยวข้อง 10 ราย กลุ่มตัวอย่างสำหรับแบบสอบถามประกอบด้วยนักเรียนและนักศึกษา 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้าง แบบสอบถาม ลักษณะคำถามปลายปิด และคำถามปลายเปิด สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณจากข้อมูลจากแบบสอบถาม ใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัญหาที่สำคัญคือการเฝ้าติดตามคุกคามและการเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบความเป็นส่วนตัวของเด็กและเยาวชนทางเว็บไซต์เฟสบุ๊ค ผลการวิจัยเชิงคุณภาพพบว่าในระบบกฎหมายไทยปัจจุบันไม่มีกฎหมายใดบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกรบกวนสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของเด็กและเยาวชนจากการใช้เว็บไซต์เฟสบุ๊คไว้เป็นการเฉพาะ ผลการวิจัยเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศพบว่า สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันสามารถนำมาปรับใช้ได้ สำหรับในระบบกฎหมายไทยนั้นพบว่า ในระบบกฎหมายไทยปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่อาจนำมาปรับใช้เพื่อการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนจากการใช้เว็บไซต์เฟสบุ๊คแต่กฎหมายดังกล่าวยังมีปัญหาในเชิงเนื้อหา องค์ประกอบ หลายประการ ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเช่นการบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เดิมเพื่อให้กฎหมายมีความเหมาะสมกับการคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของเด็กและเยาวชนต่อไป  

Downloads