มาตรการกฎหมายในการควบคุมการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา

ผู้แต่ง

  • พัชมณ ใจสอาด
  • เบญจวรรณ ธรรมรัตน์

คำสำคัญ:

มาตรการกฎหมาย, การควบคุมการสูบบุหรี่, สถานศึกษา,

บทคัดย่อ

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา 2) ศึกษาปัญหามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา 3) ศึกษาแนวทางข้อเสนอแนะในการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา โดยใช้เทคนิคการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed methods research) โดยการวิจัยเอกสาร (documentary research) และเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยแบบสอบถามมีค่าความเชื่อมั่น 0.75 จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 206 คน และการสัมภาษณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจำนวน 3 คน วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษามีความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสารพิษในควันบุหรี่และโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มากที่สุด แต่มีความรู้กฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ปานกลาง เมื่อศึกษาถึงปัญหามาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการสูบบุหรี่ในสถานศึกษาพบว่าบุคลากรและนักศึกษายังขาดความรู้ความเข้าใจกฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมการสูบบุหรี่ แม้ว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศ  เป็นเขตปลอดบุหรี่หรือติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในอาคารก็ตาม ยังมีการฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างขวางทำให้ยากลำบากแก่การควบคุมดูแลและไม่มีกำลังคนในการดูแล เพราะอธิการบดีหรือรองอธิการบดีไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมการสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย ดังนั้น ควรแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่และให้อำนาจอธิการบดีหรือรองอธิการบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่และให้อธิการบดีมีอำนาจในการออกบัตรประจำตัวผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อให้มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายต่อไป  ดังนั้นแนวทางในการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมาย คือ มหาวิทยาลัยควรขอความร่วมมือกับอาจารย์และเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือแนะนำหรือกระตุ้นการปลูกจิตสำนึกในการงดสูบบุหรี่แก่นักศึกษาและกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม

Downloads