ไทยโซ่ง: การอนุรักษ์ผ้าโบราณเพื่อสืบสานอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์
คำสำคัญ:
ไทยโซ่ง, การอนุรักษ์, ผ้าโบราณ, สืบสานอัตลักษณ์, ชาติพันธุ์,บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผ้าและลายผ้าโบราณของชาติพันธุ์ไทยโซ่ง 2) ศึกษาการอนุรักษ์ผ้าโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง 3) ศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ผ้าโบราณเพื่อการสืบสานอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไทยโซ่ง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้รู้ จำนวน 30 คน กลุ่มผู้นำ จำนวน 30 คนกลุ่มองค์กร จำนวน 30 คนบุคคลทั่วไป จำนวน 30 คน โดยใช้เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ แบบสำรวจ แบบสัมภาษณ์ การเสวนากลุ่ม และ การสัมมนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า 1) ไทยโซ่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยผ้าย้อมสีครามเข้ม มีผ้าและลายผ้าโบราณที่สืบทอดมาแต่บรรพชน คือ ผ้าซิ่นตาหมี่ ซิ่นแตงโม เสื้อฮีและผ้าเปียว ส่วนลวดลายโบราณ พบว่า เป็นลายที่ผลิตด้วยกรรมวิธีการทอปะและปัก ลายทอ ได้แก่ ลายปู ลายหอประสาท ลายหอแก้วหอคำ ลายรูปลิง และลายแตงโม ลายปะ ได้แก่ ลายเสื้อฮี ส่วนลายปัก จะเป็นลายสายรุ้ง ลายข้าวหลามตัด ลายดอกแปด ลายขาปัว ลายดอกแว่น 2) ไทยโซ่ง มีการอนุรักษ์ผ้าหลายรูปแบบ คือ การจัดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์ ในลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน การสร้างยุวทายาท ซึ่งเป็นบทบาทของครอบครัว ที่มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมผ้าให้กับบุตรหลาน และการสร้างเครือข่าย โดยใช้นันทนาการและการละเล่นเป็นสื่อกลางในการรวมคน รวมใจ รวมกิจกรรม เพื่อสืบสานการแต่งกายเชิงอนุรักษ์ 3) ไทยโซ่ง มีแนวทาง การอนุรักษ์ผ้าและลายผ้าโบราณ เพื่อสืบสานอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์โดยวิธีการสืบลายสานผ้าซึ่งประกอบด้วย การเลือกลาย การลอกลาย การย้อมไหม และการทอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับทำให้ผ้าฟื้นคืนชีพใหม่ แต่คงลักษณะผ้าและลายแบบเดิมเอาไว้ และวิธีการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับผ้าและลายผ้าชุมชนประกอบด้วยฐานข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับผ้า ปริศนา คำสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมผ้า วัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการทอผ้า และประวัติเกี่ยวกับผ้าและลวดลายผ้า
Downloads
How to Cite
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว