การพัฒนาสื่อที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดแพร่

ผู้แต่ง

  • วรนารถ ดวงอุดม

คำสำคัญ:

การพัฒนาสื่อ, คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ, จังหวัดแพร่,

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษารายการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการรับสื่อ ประเภทของสื่อ ความต้องการสื่อ การตอบสนองของสื่อรายการวิทยุ วิทยุชุมชนและโทรทัศน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุใน 2 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานครและจังหวัดแพร่และเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสื่อรายการวิทยุ วิทยุชุมชน รายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและการพัฒนาสื่อตัวอย่างที่เหมาะสมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสมผสานทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุใน 2 จังหวัดมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่คุณภาพชีวิตด้านร่างกายเหมือนกัน ส่วนที่แตกต่างกัน คือ ด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม พบว่าสื่อวิทยุ วิทยุชุมชน โทรทัศน์มีบทบาทต่อการพัฒนาชีวิตผู้สูงอายุ โดยรวมสื่อเพื่อผู้สูงอายุยังมีไม่เพียงพอและขาดความน่าสนใจ สื่อที่มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุควรสามารถตอบสนองการใช้ประโยชน์ของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับคุณลักษณะของผู้จัดรายการมีความสำคัญเช่นเดียวกันในงานวิจัยได้สรุปคุณลักษณะของ
ผู้จัดรายการที่เหมาะสมไว้หลายประการ ประเภทของสื่อและระยะเวลาที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุทั้ง 2 จังหวัดมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน โดยกรุงเทพฯ ผู้สูงอายุใช้สื่อโทรทัศน์มากที่สุด ส่วนจังหวัดแพร่ใช้สื่อวิทยุมากที่สุด ส่วนระยะเวลาในการรับชมของผู้สูงอายุ พบว่า ทั้ง 2 จังหวัดมีความเห็นเหมือนกันในอันดับแรก โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ เวลาเช้า รองลงมามีความต่างกันในกรุงเทพฯ คือ เวลาเย็นและเวลาเช้ามืด ส่วนในจังหวัดแพร่ คือ หัวค่ำและช่วงเวลาเย็น นอกจากนี้งานวิจัยยังได้วิเคราะห์สื่อที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุทางด้านเนื้อหาของสื่อ โดยได้วิเคราะห์ประมวลทั้งเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการเนื้อหาที่สื่อควรระมัดระวังในการนำเสนอต่อครอบครัวและสังคมในประเด็นผู้สูงอายุและยังพบว่า การตอบสนองของภาครัฐและสื่อยังไม่ความสมดุลกับความต้องการของสังคม การบูรณาการด้านสื่อและนโยบายที่เตรียมรองรับเพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอและควรให้มีสื่อสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เตรียมก้าวสู่วัยผู้สูงอายุด้วย

สำหรับแนวทางในการพัฒนาสื่อ ในงานวิจัยนี้ได้สรุปแนวทางการพัฒนาสื่อหลายด้านอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แนวทางการพัฒนาด้านเนื้อหา พบว่า ควรเพิ่มสื่อและรายการวิทยุ วิทยุชุมชนและรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ต่อภาพลักษณ์เชิงบวกของผู้สูงอายุ เน้นความรักความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว ความเอื้ออาทร แนวคิดแบบพอเพียง การดูแลสุขภาพ การเสนอความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิของผู้สูงอายุใช้ในการติดต่อประสานงานแจ้งข่าวสาร มีรายการช่วยเหลือผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งศักยภาพของผู้สูงอายุ นอกจากนี้งานวิจัยยัง พบว่า แนวทางการพัฒนาสื่อวิทยุ ควรได้รับการพัฒนาทั้งด้านรายการ สาระ รูปแบบรายการ พิธีกร สำหรับแนวทางในการพัฒนาวิทยุชุมชนต้องการให้พัฒนาเนื้อหาให้สอดคล้องกับความต้องการเพิ่มขึ้น ควรเพิ่มคลื่นวิทยุชุมชนและรายการสำหรับผู้สูงอายุ ควรเพิ่มแนวทางการกระจายข้อมูลให้ครบถ้วน ด้านการพัฒนาสื่อตัวอย่าง พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อในทุกขั้นตอนตามแนวคิดกระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมและมีข้อเสนอแนะให้รัฐสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุ รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่สังคม

Downloads