ความหมายและภาพตัวแทนครอบครัวต่างชนชั้นในละครโทรทัศน์ไทย

ผู้แต่ง

  • จุไรรัตน์ ทองคำชื่นวิวัฒน์

คำสำคัญ:

ความหมาย, ภาพตัวแทน, ครอบครัว, ชนชั้น, ละครโทรทัศน์ไทย,

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสะท้อนและการประกอบสร้างภาพตัวแทนความเป็นจริงทางสังคมว่าด้วยครอบครัวที่แตกต่างกันทางชนชั้นในละครโทรทัศน์ และการรับรู้และการถอดรหัสความหมายครอบครัวต่างชนชั้นที่ผู้ชมได้รับจากการสะท้อนและการประกอบสร้างภาพตัวแทนครอบครัวที่แตกต่างกันทางชนชั้นในละครโทรทัศน์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากละครโทรทัศน์ จำนวน 4 เรื่อง คือ เรื่องกุหลาบไร้หนาม สวรรค์สร้าง ไทรโศก และตะวันยอแสง โดยการวิเคราะห์เนื้อหา  และศึกษาการรับรู้ของผู้ชมละครโทรทัศน์ในกรุงเทพมหานครซึ่งติดตามชมละครโทรทัศน์มาไม่น้อยกว่า 10 ปี ใน 3 เขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร คือ เขตพื้นที่ชั้นใน เขตพื้นที่ชั้นกลาง  และเขตพื้นที่ชั้นนอก  จำแนกตามช่วงอายุ คือ 21-40 ปี และ 41-60 ปี จำนวน 6 กลุ่ม ๆ ละ 5-7 คน  รวมทั้งหมด 38 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลแบบการสนทนากลุ่ม และดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึก แต่ละกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่คัดเลือกจากการสนทนากลุ่ม กลุ่มละ 2-4 คน รวมทั้งหมด 19 คน   

ผลการวิจัยพบว่า ในละครโทรทัศน์ส่วนมากเป็นรูปแบบครอบครัวของครอบครัวชนชั้นสูงและครอบครัวชนชั้นล่าง ส่วนมากมีลักษณะครอบครัวที่สมบูรณ์ ได้แก่ ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย และครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ได้แก่ ครอบครัวญาติอยู่ร่วมกัน ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแต่งงานใหม่ เป็นต้น ครอบครัวชนชั้นสูงมักมีอาชีพนักธุรกิจ ข้าราชการชั้นสูง หรือเชื้อพระวงศ์  มีฐานะทางเศรษฐกิจดี  การยอมรับทางสังคม  และสภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตดีกว่าครอบครัวชนชั้นล่างที่ส่วนมากทำงานรับจ้าง  แต่การทำตามบทบาทหน้าที่ของครอบครัวชนชั้นสูงไม่อบอุ่นและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางสังคมมากกว่าครอบครัวชนชั้นล่าง  ผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษในครอบครัว คือ ย่า ยาย แม่ และพ่อเลี้ยง ครอบครัวที่มีพฤติกรรมตามบรรทัดฐานสังคมต้องการมีความเป็นอยู่ในครอบครัวที่สุขสงบ  ความสำเร็จการศึกษาทำงานพออยู่พอกิน ไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องการความมั่งคั่งร่ำรวย  ปัจจัยสำคัญของพฤติกรรมตามบรรทัดฐานสังคม คือ ความกตัญญู เวรกรรมที่ต้องชดใช้  ความอดทน และศีลธรรม ส่วนปัจจัยสำคัญที่เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน  คือ  ความโลภ  ความอิจฉาริษยา  ความเคียดแค้นชิงชัง และขาดศีลธรรม ซึ่งทำให้เกิดผลที่ได้รับในที่สุด คือ ครอบครัวแตกแยก  ไม่มีความสมหวัง ล้มเหลวในชีวิต  และอาจพบจุดจบจนอยู่ในสังคมไม่ได้ถึงกับทำอัตวินิบาตกรรม หรือถูกทำร้ายจน แก้ปัญหาที่ดีคือการให้อภัยและมีคุณธรรม ส่วนความขัดแย้งระหว่างครอบครัวชนชั้นสูงกับครอบครัวชนชั้นล่าง มักเกิดจากครอบครัวชนชั้นสูงใช้อำนาจเงินตรา  อำนาจทางจิตใจ และอำนาจทางกายภาพตามลำดับทั้งต่อหน้าและลับหลัง

การเลื่อนระดับชั้นทางสังคมของชนชั้นล่างให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีสถานภาพทางสังคมดีขึ้น หรือได้รับการยกย่องให้เกียรติที่สูงขึ้นทางสังคมซึ่งมาจากการสั่งสมจากปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมตามบรรทัดฐานทางสังคม ส่วนกลวิธีการสร้างโครงเรื่องในละครโทรทัศน์ตามหลักความขัดแย้งมีการประกอบสร้างความจริงจากตัวบทโดยเฉพาะโครงเรื่อง ปัจจัยความขัดแย้งที่สำคัญ ได้แก่ ความโลภ ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตแค้น และการขาดคุณธรรม จากสาระสำคัญของเรื่องหรือแก่นของเรื่องซึ่งเป็นสาระแบบการใช้อำนาจผสมผสานกับสาระแบบการมีศีลธรรม

ผู้ชมละครโทรทัศน์ส่วนมากมีทั้งลักษณะครอบครัวที่สมบูรณ์ ได้แก่ ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย และครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ ได้แก่ ครอบครัวอยู่กับญาติ ครอบครัวอยู่คนเดียว และครอบครัวแต่งงานใหม่ มีถอดรหัสความหมายครอบครัวที่ต่างชนชั้นได้ตรงกับการเข้ารหัสความหมายของละครโทรทัศน์ แต่ในบางด้านมีการประกอบสร้างที่เกินความเป็นจริง ได้แก่ ด้านอาชีพ ด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านสภาพความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต และด้านการใช้อำนาจ ส่วนด้านที่ละครโทรทัศน์ยังเสนอน้อยมาก คือ ด้านหน้าที่ในการอบรม ด้านหน้าที่เชิงเศรษฐกิจ ด้านหน้าที่การให้ความรัก ด้านหน้าที่ในการให้สถานภาพ ด้านหน้าที่ทางศาสนา ด้านหน้าที่ทางนันทนาการ ด้านปัจจัยที่ผลักดันให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ด้านปัญหา วิธีแก้ปัญหา และผลที่ได้รับในที่สุด ซึ่งควรนำเสนอให้รายละเอียดตามความเป็นจริงและนำเสนอให้รอบด้านมากขึ้น

Downloads