องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของแคฝรั่ง

ผู้แต่ง

  • ตฤณกร เกตุกุลพันธ์
  • เยี่ยมศิริ มณีพิศมัย
  • ปรานี ปิ่นเงิน
  • อุษณีย์ ใบบัว
  • ประภาพร ภูริปัญญาคุณ
  • เพลินพิศ ยะสินธิ์
  • วีรนุช สระแก้ว
  • ชัยสิทธิ์ นิยะสม
  • รัตนา เฉลิมกลิ่น

คำสำคัญ:

แคฝรั่ง, ฟลาโวนอยด์, ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย, ฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์,

บทคัดย่อ

จากการตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจาก กิ่ง ลำต้น และใบ ของแคฝรั่งเบื้องต้นพบว่ามีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ flavonols, flavones, flavanones และ xanthones และยังพบสารในกลุ่ม แทนนิน และ ฟิโนลิค การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากส่วน   กิ่ง ลำต้น และใบ ของแคฝรั่ง ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ ในการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH และวิธี ABTS พบว่าสารสกัดเมทานอลของแคฝรั่งทุกส่วนแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตตและสารสกัดเฮกเซน โดยสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด คือมีค่า IC50 โดยวิธี DPPH และ ABTS เท่ากับ 0.0367 และ 0.2043 มก./มล. ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสารมาตรฐานโทรอกซ์ ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 0.0263 และ 0.0223 มก./มล. ตามลำดับ สำหรับการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตตส่วนกิ่งและลำต้นแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus cereus, Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa ได้ดีที่สุด แต่พบว่าสารสกัดทุกส่วนของแคฝรั่งไม่สามารถแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Escherichia coli ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ สารสกัดทุกส่วนไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase

Downloads