ทุนนิยมพวกพ้องในประเทศไทย: ศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ระบอบสฤษดิ์-ถนอมและระบอบทักษิณ

ผู้แต่ง

  • รัตพงษ์ สอนสุภาพ

คำสำคัญ:

ทุนนิยมพวกพ้องไทย, ระบอบสฤษดิ์-ถนอม, ระบอบทักษิณ,

บทคัดย่อ

ทุนนิยมพวกพ้องไทยมีคุณลักษณะและมีพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้ ระหว่าง พ.ศ.2500 - 2516 เป็นช่วงที่ทุนนิยมพวกพ้องเกิดขึ้นโดยมีข้าราชการระดับสูง ทั้งผู้นำกองทัพ นายตำรวจระดับสูงเข้าไปมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางจึงทำให้ทุนนิยมพวกพ้องเกิดขึ้น ทุนนิยมพวกพ้องมีวิธีการแสวงหาผลประโยชน์ดังนี้ 1) การใช้ตำแหน่งหน้าที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง 2) ใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ 3) ดำเนินธุรกิจที่ปราศจากเงินทุน และ 4) แสวงหาผลประโยชน์ โดยตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ จึงเรียกทุนนิยมพวกพ้องในช่วงนี้ว่า ทุนนิยมพวกพ้องโดยข้าราชการ (Bureaucratic Crony Capitalism)ระหว่าง พ.ศ.2517-2543 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง  หลังการสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหาร พ.ศ.2516 ด้วยสภาพแวดล้อมการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งได้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กลุ่มทุนการเมืองท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ เติบโต ขณะที่กลุ่มทุนผูกขาดในเมืองยังคงได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากแผนพัฒนาประเทศฉบับต่างๆ ทำให้ทุนนิยมไทยสามารถสะสมทุนและขยาย  การลงทุนได้มากขึ้น กลุ่มทุนผูกขาดในเมืองยังคงประสานผลประโยชน์กับนักการเมืองได้ดี เพราะการเมืองแบบเลือกตั้งต้องใช้เงินในการหาเสียงมาก ทุนนิยมพวกพ้องไทยในช่วงนี้มีรูปแบบการแสวงหาผลประโยชน์ ดังนี้ 1) การใช้ข้อมูลของรัฐไปแสวงหาผลประโยชน์ และ 2) แก้ไขสัญญาธุรกิจสัมปทานของหน่วยงานรัฐ จึงเรียกทุนนิยมพวกพ้องในช่วงนี้ว่า ทุนนิยมพวกพ้อง   โดยนายทุน (Capitalist Crony Capitalism)

ระหว่าง พ.ศ. 2544-2549 เป็นช่วงที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยมีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มทุนผูกขาดจาก  การสัมปทานจากรัฐ ด้วยเงื่อนไขหลายประการของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้กลุ่มนายทุนผูกขาดจำนวนมากผันตนเองมาเป็นนักการเมืองโดยตรง คุณลักษณะสำคัญของทุนนิยมพวกพ้องในช่วงนี้จึงมีคุณลักษณะ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก เป็นตัวแทนของกลุ่ม ทุนผูกขาดที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และลักษณะที่สอง เป็นรัฐบาลโดยนายทุนที่ทำให้รัฐ มีขนาดใหญ่ มีการขยายขอบข่าย การทำงานของรัฐให้กว้างขวางโดยใช้ธุรกิจการเมืองเป็นเครื่องมือในการผูกขาดอำนาจทางการเมืองและอำนาจรัฐทุนนิยมพวกพ้องช่วงนี้ ได้ใช้อำนาจรัฐไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยมีรูปแบบดังนี้ 1) การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจด้วยการถือครองธุรกิจสัมปทานจากรัฐ และ 2) การมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยการใช้อำนาจ ในตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ จึงเรียกทุนนิยมพวกพ้องในช่วงนี้ว่า ทุนนิยมพวกพ้องโดยนายทุนผูกขาด (Monopoly Crony Capitalism)

ดังนั้นทุนนิยมพวกพ้องในประเทศไทยจึงเป็นกลุ่มทุนที่ก่อให้เกิดปัญหาก่อให้เกิดการทุจริตและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโดยรวมมาตลอด รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมหลักการและจิตสำนึกต่อระบบธรรมาภิบาลของประเทศไทย อีกด้วย

Downloads