การพัฒนารูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพือการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ผู้แต่ง

  • วิลาวัณย์ จารุอริยานนท์

คำสำคัญ:

การบริหารการเปลี่ยนแปลง, การขับเคลื่อน, การจัดการความรู้,

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการความรู้สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏในกรุงเทพมหานครจำนวน 6 แห่ง การวิจัย ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยการสัมภาษณ์อธิการบดี และใช้แบบสอบถามสำหรับผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับต้น อาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุน 2) ศึกษาสภาพการบริหารการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ขององค์การที่ประสบความสำเร็จ โดยการวิเคราะห์เอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึก 3) สร้างรูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ 4) ตรวจสอบรูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการความรู้โดยการสนทนากลุ่ม และรับรองรูปแบบฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5) ปรับปรุงและนำเสนอรูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ สถิติที่ใช้ในวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า T-test

ผลการวิจัย พบว่า 1. สภาพปัจจุบันการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาพรวม                   อยู่ในระดับปานกลาง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้าง (3.32) ด้านผู้บริหาร (3.43) และด้านวัฒนธรรมองค์การ (3.39) อยู่ในระดับมาก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคลากร (3.57) และเทคโนโลยี (3.55) โดยสภาพปัจจุบันในการบริหารจัดการแตกต่างจากสภาพที่พึงประสงค์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ด้านโครงสร้างมีความแตกต่างมากที่สุด (t=28.333) รองลงมา ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมองค์การ (t=23.980) ด้านบุคลากร (t=25.723) ด้านผู้บริหาร (t=23.410) ด้านเทคโนโลยี (t=21.829) 2. องค์การที่ประสบความสำเร็จมีผู้บริหารระดับสูงให้การสนับสนุน เป็นแบบอย่างที่ดี สร้างบรรยากาศการเรียนรู้  กำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้ตอบสนองเป้าหมายขององค์การ สื่อสารชัดเจน ให้ความสำคัญกับคนและเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน มีการยกย่องชมเชยและให้รางวัลอย่างต่อเนื่อง 3.ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ได้รูปแบบชื่อว่า รูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการจัดการความรู้ (Integrated Change Management Model to Drive Knowledge Management) ประกอบด้วยรูปแบบหลักที่แสดงการบูรณาการองค์ประกอบและกระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลง และรูปแบบย่อยที่แสดงถึง กระบวนการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนการจัดการความรู้ ในแต่ละองค์ประกอบ ได้แก่ 1) โครงสร้าง: การมีนโยบายการจัดการความรู้ โดยการสื่อสารที่ชัดเจน เน้นสื่อสารสองทาง ปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยใช้การจัดการความรู้ 2) ผู้บริหาร: เน้นการเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการความรู้ เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคลากร บุคลากร: เน้นการเป็นบุคคลใฝ่เรียนรู้ ปฏิบัติงานโดยใช้การจัดการความรู้ และให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 3) วัฒนธรรมองค์การ: เน้นวัฒนธรรมการทำงานที่ใช้การจัดการความรู้ และการทำงานเป็นทีม 4) เทคโนโลยี: เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนการจัดการความรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีการอบรมทักษะที่จำเป็นอย่างทั่วถึง นอกจากนี้รูปแบบยังได้แสดงแนวทางการบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในแต่ละองค์ประกอบโดยเน้นการบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

Downloads