ปัญหาทางกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้แต่ง

  • อัครเดช มณีภาค

บทคัดย่อ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทำให้การติดต่อสื่อสารกระทำได้โดยง่ายและสะดวกรวดเร็ว  การทำธุรกรรมทางการพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดังกล่าวโดยจะเห็นได้จาก ระบบการดำเนินธุรกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งถูกจำกัดโดยระยะทาง และเน้นการทำธุรกรรมโดยทางเอกสารหรือการใช้กระดาษ (Paper-based transaction) มาเป็นการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ระบบการติดต่อสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) โดยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมเช่นนี้ได้เปลี่ยนจากรูปแบบเอกสารหรือกระดาษมาเป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและจัดเก็บไว้ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถทำการส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็ว การดำเนินธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยไร้ซึ่งกระดาษ (Paperless) ดังกล่าว นอกจากทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมโดยอาศัยข้อมูลในรูปของเอกสารหรือกระดาษดังกล่าวแล้ว ยังส่งผลให้ธุรกิจการค้าสามารถขยายตัวได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้เชื่อมโยงเข้ากับการสื่อสารผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้การติดต่อเชิงพาณิชย์สามารถทำได้โดยปราศจากข้อจำกัดทั้งด้านสถานที่  และด้านเวลา กล่าวคือ บุคคลสามารถติดต่อทำธุรกรรมกันได้ทั่วโลกและตลอด 24 ชั่วโมง หากพิจารณาลำดับขั้นตอนของการทำนิติกรรมแล้ว การทำธุรกรรมทางพาณิชย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และอาศัยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว สามารถทำได้อย่างครบวงจร กล่าวคือ ตั้งแต่การเริ่มต้น ทำคำเสนอ สนอง การร่างและตกลงทำข้อสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการชำระเงิน ซึ่งก็สามารถทำได้โดยการชำระราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันธนาคารต่างๆได้นำระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (E-banking) มาให้บริการกันอย่างแพร่หลาย อย่างไร            ก็ตาม แม้ว่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้กับคู่กรณีที่เกี่ยวข้องและทำให้การค้าขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น  จะเห็นได้ว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอาศัยข้อมูลต่างๆที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายต่างๆตามมาหลายประการเช่น ความปลอดภัยของข้อมูลที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจถูกล่วงละเมิดจากอาชญากรที่มีความรู้ความชำนาญทางระบบการสื่อสารสารสนเทศเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล รวมทั้งการทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลสูญหายหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเจาะเข้าระบบเพื่อถอนเงินหรือโอนเงินไปโดยที่เจ้าของบัญชีไม่ได้รับรู้แต่อย่างไร 

หากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ว่าได้มีการบัญญัติกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544   นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายฉบับ ในบทความนี้มุ่งศึกษาปัญหาของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ในการคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มจากการศึกษาความหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่การวิเคราะห์พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 หลังจากนั้นจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายดังกล่าวโดยพิจารณากฎหมายไทยฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในบริบทของการคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย 

Downloads