การศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ผู้แต่ง

  • สุจินดา ประเสริฐ

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการเรียนรู้ การนำตนเอง พฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลของนุกศึกษา และ 3) แสดงหลักฐานความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัดพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีภาคปกติชั้นปีที่ 1-4 ใน 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตที่ศึกษาในปีการศึกษา จำนวน 912 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิ เครื่องมือวิจัย เป็นแบบวัดพฤติกรรการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง แบบมาตราประเมินค่า 6 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่น .814 การวิเคราะห์ผลการวิจัยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม (t-test) เป็นอิสระจากกัน  วิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (confirmatory factor analysis: CFA)

          ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง อยู่ในระดับค่อนข้างจริง 2) กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศแตกต่างกัน มีพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มตัวอย่างที่มีชั้นปี และหลักสูตรแตกต่างกัน มีพฤติกรรม การเรียนรู้ด้วยการนำตนเองแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) โมเดลพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองที่ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ  ได้แก่ การจัดการตนเอง การตรวจสอบตนเอง และการเปลี่ยนแปลงตนเอง มีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ chi-square = 2.179, df  = 1, p = .139, GFI = .998, CFI = .998, SRMR = .016   และ RMSEA = .0366 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01-08-2015