หลักสูตรระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นสมรรถนะ

ผู้แต่ง

  • เอนก เทียนบูชา

คำสำคัญ:

การอุดมศึกษา, สมรรถนะ, คุณวุฒิวิชาชีพ, มาตรฐานอาชีพ

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันผลการวิจัยพบว่าสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาไม่ตรงตามที่สถานประกอบการคาดหวัง ดังนั้น “หลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะ” จึงเป็นหนทางในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) หลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะจะต้องเป็นไปเพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานตรงตามความต้องการของภาคผลิตและภาคบริการ โดยเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) และสมรรถนะการปฏิบัติงาน (Practical Competency) ที่สถานประกอบการ และองค์กรวิชาชีพเป็นผู้กำหนด จากการวิเคราะห์หลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันพบว่าเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) โดยกำหนดสาระและผลลัพธ์การเรียนรู้ใน มคอ.1 มคอ.2 และ มคอ. 3 เน้นสมรรถนะแกนกลาง (Core Competency) ซึ่งเป็นสมรรถนะพื้นฐานทั่วไป ส่วนสมรรถนะวิชาชีพ (Professional Competency) ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานอย่างชัดเจนและยังไม่มีการเน้นในประเด็นดังกล่าวเท่าที่ควร โดยทั่วไปเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่นำมาตรฐานอาชีพมากำหนดเป็นหลักสูตรแล้วพบว่าหลักสูตรระดับอุดมศึกษาไม่ได้กำหนดเกณฑ์สมรรถนะ ขอบเขตสมรรถนะ ร่องรอยหลักฐานความรู้ ทักษะและคุณลักษณะ ของผู้เรียนอย่างชัดเจนในหลักสูตร หลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะต้องเริ่มจากการจัดทำมาตรฐานอาชีพที่กำหนดโดยเจ้าของอาชีพ ดังนั้น สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพควรกำหนดมาตรฐานอาชีพให้ครอบคลุมทุกอาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรสร้างความรู้ ความเข้าใจและการปรับความคิดโดยเน้นเรื่องหลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะอย่างจริงจัง และสถานศึกษาควรนำมาตรฐานอาชีพหรือร่วมกับภาคการผลิตและบริการในการกำหนดมาตรฐานอาชีพเพื่อนำมากำหนดหลักสูตร และสาระรายวิชาเพื่อนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นสมรรถนะอย่างแท้จริง

Downloads