การวิเคราะห์ปัจจัยด้านคมนาคมขนส่งระบบรองและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่ส่งผลต่อการเลือกใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยเทคนิคการสำรวจแบบจำลองสถานการณ์: กรณีศึกษาสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

ผู้แต่ง

  • ดวงพร กาซาสบิ
  • สิริทิพ วะศินรัตน์
  • ศิริวิมล สายเวช

คำสำคัญ:

โครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง), โครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรอง, ระบบขนส่งมวลชนทางราง, สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษารูปแบบการเดินทางในปัจจุบัน และทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ศึกษาบริเวณรอบสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ 2) พัฒนาแบบจำลองปัจจัยด้านโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรองและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างที่ส่งผลต่อการเลือกใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 800 คน ที่มีพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และ ศึกษา บริเวณรอบพื้นที่รอบสถานีรถไฟมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และที่มีการเดินทางรอบพื้นที่ศึกษาทั้งบุคคลที่มีปลายทางการเดินทางประจำ และบุคคลที่มีปลายทางการเดินทางไม่ประจำ โดยใช้การสำรวจพฤติกรรมการเดินทางแบบต้นทาง-ปลายทางทั้งนี้ การวิจัยใช้วิธีการสำรวจแบบจำลองสถานการณ์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการใช้คมนาคมระบบรางหลัก หากมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต) ในอนาคต

          ผลการพบว่า 1) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง 4 ปัจจัย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ ระยะเวลาในการเดินทาง จุดสังเกตถนนแนวต้นไม้ขนาบข้างถนน และทางข้ามมายังจุดจอดรับ และ 2) การพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับคมนาคมระบบรองเดิม เช่น รถบัส รถตู้ หรือทางเลือกใหม่ เช่น รถราง รถ shuttle bus ที่มีประสิทธิภาพในด้านเวลาและราคารวมตลอดการเดินทางที่พอจ่ายได้แล้ว คาดว่า กลุ่มผู้ใช้รถยนต์น่าจะหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตมากขึ้น

Downloads