ศักยภาพการผลิต และผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำเขาหลัก จังหวัดตรัง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพการผลิต ต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิตไก่ดำเขาหลัก รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการผลิตไก่ดำเขาหลัก เก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำเขาหลัก ตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง จำนวน 30 รายในรอบการผลิตระยะเวลา 16 สัปดาห์ โดยการใช้แบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้าง พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำเขาหลักมีกำไรสุทธิเฉลี่ยเท่ากับ 28.93 บาท/กิโลกรัม กำไรเหนือต้นทุนเงินสดเท่ากับ 104.62 บาท/กิโลกรัม และมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เท่ากับ 16.91 ด้านต้นทุนรวมในการเลี้ยงไก่ดำเขาหลักต่อรอบการผลิต เท่ากับ 171.07 บาท/กิโลกรัม ประกอบด้วยต้นทุนคงที่รวมซึ่งไม่เป็นเงินสดเท่ากับ 26.74 บาท/กิโลกรัม เป็นค่าเสื่อมราคาโรงเรือนและอุปกรณ์ มากที่สุดร้อยละ 56.71 และต้นทุนผันแปรรวม เท่ากับ 144.33 บาท/กิโลกรัม โดยต้นทุนผันแปรที่สำคัญ ประกอบด้วยค่าอาหารร้อยละ 36.74 ค่าเสียโอกาสแรงงานครัวเรือน ร้อยละ 33.91 และค่าพันธุ์ร้อยละ 18.84 ตามลำดับ ส่วนการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงไก่ดำเขาหลัก พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดำเขาหลักส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านสังคมมากที่สุด (= 4.01) โดยเฉพาะในประเด็นด้านการเพิ่มโอกาสในการพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันในชุมชน รองลงมาคือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ( = 3.61) โดยเฉพาะประเด็นด้านการเลี้ยงไก่ดำเขาหลักส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงไก่ดำเขาหลัก ( = 2.88) โดยเฉพาะด้านการนำ ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ผลกระทบในภาพรวมจากการเลี้ยงไก่ดำเขาหลักอยู่ในระดับมาก ( = 3.50)