การศึกษาลักษณะทางการเกษตรและผลผลิตของอ้อยโคลนดีเด่นภายใต้สภาวะให้น้ำและอาศัยน้ำฝน
Main Article Content
บทคัดย่อ
พันธุ์อ้อยที่สามารถให้ผลผลิตสูงแม้ปลูกในพื้นที่อาศัยน้ำฝนหรือได้รับน้ำจำกัดยังเป็นที่ต้องการของเกษตรกร ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางการเกษตรและผลผลิตของอ้อยโคลนดีเด่นเมื่อได้รับน้ำที่แตกต่างกันประกอบการคัดเลือกพันธุ์อ้อยในเขตอาศัยน้ำฝน โดยวางแผนการทดลองแบบ Split - plot in RCBD จำนวน 3 ซ้ำ ปัจจัยหลัก คือ การให้น้ำที่แตกต่างกัน ได้แก่ (1) ให้น้ำตามร่อง (เสริมน้ำ) และ (2) ไม่ให้น้ำ (อาศัยน้ำฝน) และปัจจัยรอง คือ พันธุ์/โคลนอ้อยที่แตกต่างกัน จำนวน 15 พันธุ์/โคลน จากการศึกษาพบว่า ความยาวลำเฉลี่ยของอ้อยทั้ง 15 พันธุ์/โคลน ที่อายุ 12 เดือนหลังปลูก ที่เจริญเติบโตโดยอาศัยน้ำฝนมีค่าน้อยกว่าและแตกต่างกันอย่าง มีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติกับอ้อยที่ปลูกโดยได้น้ำตามร่อง เท่ากับ 251.68 และ 340.27 เซนติเมตร ตามลำดับ และพบว่า พันธุ์/โคลนอ้อยที่แตกต่างกันมีค่า SPAD Chlorophyll Meter Reading หรือค่า SCMR ความยาวลำ จำนวนลำต่อกอ ผลผลิต ค่าความหวานของอ้อย หรือ Commercial Cane Sugar (C.C.S.) และผลผลิตน้ำตาล แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ ทั้งนี้ พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะคัดเลือกโคลน KK09-0857 และ KK09-0844 สำหรับเพาะปลูกในพื้นที่ที่สามารถจัดการการให้น้ำได้ และพื้นที่อาศัยน้ำฝน โดยมีผลผลิตน้ำตาล เท่ากับ 2.72 และ 1.42 ตัน C.C.S. ต่อไร่ ตามลำดับ