ผลของการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ต่อการเพิ่มผลผลิต และขนาดหัวของแก่นตะวัน (Helianthus tuberosus L.)

Main Article Content

สําราญ พิมราช
ถวัลย์ เกษมาลา
ทัณฑิกา มุงคุณคําชาว

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้ปุ๋ยเคมีปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ต่อการเพิ่มผลผลิตและขนาดหัวของแก่นตะวันโดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) จำนวน 4 ซ้ำประกอบด้วย 8 กรรมวิธี ได้แก่ 1) ไม่ใส่ปุ๋ย 2) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก. / ไร่ 3) ใส่ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานอัตรา 2,000 กก. / ไร่ 4) ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 400 กก. / ไร่ 5) ใส่ปุ๋ยคอกมูลโคอัตรา 1,600 กก. / ไร่ 6) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15 15-15 อัตรา 25 กก. / ไร่ร่วมกับปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานอัตรา 1,000 กก. / ไร่ 7) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กก. / ไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 200 กก. / ไร่และ 8) ใส่ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 25 กก. / ไร่ร่วมกับปุ๋ยคอกมูลโคอัตรา 800 กก. / ไร่ผลการทดลองพบว่าการใส่ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานอัตรา 2,000 กก. / ไร่มีผลทำให้แก่นตะวันได้ผลผลิตน้ำหนักหัวสดมากที่สุดเท่ากับ 2,880 กก. / ไร่รองลงมาคือการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กก / ไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 200 กก. / ไร่ (2,624 กก. / ไร่) และการใส่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 400 กก. / ไร่ (2,317 กก. / ไร่) ตามลำดับในขณะที่การใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก. / ไร่และไม่ใส่ปุ๋ยให้ผลผลิตน้ำหนักหัวสดต่ำ (1,339 และ 1,367 กก. / ไร่ตามลำดับ) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าการใส่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 400 กก. / ไร่และการใส่ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานอัตรา 2,000 กก. / ไร่มีแนวโน้มให้ผลผลิตหัวขนาดใหญ่พิเศษมากกว่าการใส่ปุ๋ยชนิดอื่น ๆ เท่ากับ 452 และ 409 กก. / ไร่ตามลำดับ (19.5 และ 14.2% ของน้ำหนักหัวทั้งหมดตามลำดับ) รองลงมาคือการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กก. / ไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 200 กก. / ไร่โดยมีหัวขนาดใหญ่พิเศษเท่ากับ 333 กก. / ไร่ (12.7% ของน้ำหนักหัวทั้งหมด) สำหรับหัวขนาดใหญ่นั้นพบว่าการใส่ปุ๋ยคอกมูลโคอัตรา 1,600 กก. / ไร่มีแนวโน้มให้ผลผลิตหัวขนาดใหญ่มากที่สุดเท่ากับเท่ากับ 501 กก. / ไร่ (คิดเป็น 28.2% ของน้ำหนักหัวทั้งหมด) รองลงมาคือการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กก. / ไร่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 200 กก. / ไร่เท่ากับ 488 กก. / ไร่ (18.6% ของน้ำหนักหัวทั้งหมด) และการใส่ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงอัตรา 400 กก. / ไร่เท่ากับ 466 กก. / ไร่ (20.1% ของน้ำหนักหัวทั้งหมด) ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย