ประสิทธิภาพของปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเมล็ดถั่วเหลืองและสับปะรดในการเพิ่มผลผลิตคะน้า
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการหมักเมล็ดถั่วเหลืองและสับปะรดในการเพิ่มผลผลิตในแปลงเพาะปลูกคะน้าพันธุ์เพชรน้ำเอก วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ จำนวน 4 ซ้ำ โดยมีระดับความเข้มข้นหรืออัตราส่วนผสมของปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพต่อน้ำที่มีความเข้มข้นแตกต่างกัน 5 ทรีตเมนท์ดังนี้ ทรีตเมนท์ที่ 1 ฉีดพ่นด้วยน้ำเปล่า ทรีตเมนท์ที่ 2 ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ ทรีตเมนท์ที่ 3 ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพต่อน้ำอัตรา 1:100 โดยปริมาตร ทรีตเมนต์ที่ 4 ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพต่อน้ำอัตรา 1:200 โดยปริมาตรและทรีตเมนท์ที่ 5 ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพต่อน้ำอัตรา 1:300 โดยปริมาตร วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ วัดการเจริญเติบโตของต้นคะน้าในด้านความสูงลำต้น จำนวนใบ ความกว้างใบ ความยาวก้านใบ และชั่งน้ำหนักสดของคะน้า ผลการศึกษาพบว่า การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเมล็ดถั่วเหลืองและสับปะรดในอัตราส่วนต่างกันและปุ๋ยยูเรีย มีผลต่อการเจริญเติบโตของคะน้าในด้านความสูง จำนวนใบ ความกว้างของใบ ความยาวก้านใบ และน้ำหนักสดต้นคะน้าที่อายุ 21, 28, 35, 42, 49 และ 56 วันหลังปลูก โดยคะน้าในทรีตเมนต์ที่ 2 ที่ใช้ปุ๋ยยูเรีย มีค่าเฉลี่ยของความสูง ลำต้น จำนวนใบ ความกว้างของใบ และความยาวก้านใบเพิ่มขึ้นดีที่สุด แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของคะน้าในทรีตเมนต์ที่ 3 ที่ใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเมล็ดถั่วเหลืองและสับปะรดต่อน้ำในอัตราส่วน 1:100 นอกจากนั้น การใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากถั่วเหลืองและสับปะรดที่ระดับความเข้มข้น 1:100 ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักสดของต้นคะน้าที่อายุ 56 วัน สูงสุด (46.6 กรัมต่อต้น) ไม่แตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) เมื่อเปรียบเทียบกับคะน้าีแนวโน้มทำให้ผักที่ใช้ปุ๋ยยูเรีย (46.3 กรัมต่อต้น) ดังนั้นการใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากถั่วเหลืองและสับปะรดในอัตราส่วนผสมของน้ำหมักชีวภาพต่อน้ำ 1:100 มีผลต่อการเพิ่มการเจริญเติบโตของต้นคะน้าพันธุ์เพชรน้ำเอก และสามารถทดแทนการใช้ปุ๋ยยูเรียได้ อีกทั้งยังลดการใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี