การวิเคราะห์หาสารสำคัญและสารสีจากดอกไม้กินได้บางชนิดเพื่อใช้ในอาหารสัตว์ปีก
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญและสารสีจากสารสกัดของดอกไม้ที่บริโภคได้จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ดอกแคแสด ดอกแคแดง ดอกสุพรรณิการ์ และดอกคูณ เตรียมสารสกัดโดยนำผงดอกไม้อบแห้งผสมกับเมทานอล (80:20 v/v) ในอัตราส่วน 1:5 เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ทำการศึกษาปริมาณสารสำคัญและสารสีในกลุ่มฟีนอลิก แคโรทีนอยด์ แอนโทไซยานิน และฟลาโวนอยด์ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ค่าความแปรปรวน และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยแบบลีสแควร์ จากผลการทดลองพบว่า ดอกสุพรรณิการ์มีปริมาณสารฟีนอลิก แคโรทีนอยด์ และฟลาโวนอยด์สูงที่สุด (48.82 ± 0.41 mg GAE/g, 28.91 ± 0.43 mg ß-carotene/100 g และ 8.87 ± 0.38 mg CE/g) รองลงมา ได้แก่ ดอกคูณ (26.94 ± 0.33 mg GAE/g, 22.95 ± 0.20 mg ß-carotene/100 g และ 3.53 ± 0.11 mg CE/g) ดอกแคแสด (6.64 ± 0.13 mg GAE/g, 9.31 ± 0.14 mg ß-carotene/100 g และ3.47 ± 0.14 mg CE/g) และดอกแคแดง (5.61 ± 0.10 mg GAE/g, 4.13 ± 0.06 mg ß-carotene/100 g และ 0.97 ± 0.02 mg CE/g) ตามลำดับ ตรงกันข้ามกับปริมาณสารแอนโทไซยานินที่สามารถพบได้เฉพาะในดอกแคแดงเท่านั้น (119.40±3.98 mg CGE/100 g) ดังนั้นสรุปได้ว่าการใช้ดอกไม้ที่บริโภคได้ทั้ง 4 ชนิดนี้ โดยเฉพาะดอกสุพรรณิการ์ซึ่งมีปริมาณสารสำคัญและสารสีมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการใช้สารสีเพื่อเพิ่มความเข้มสีของไข่แดงให้แก่ผู้บริโภค และผู้ผลิตหรือผู้เลี้ยงสัตว์ปีกนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์ปีกได้ต่อไปในอนาคต
Article Details
Journal of TCI is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) licence, unless otherwise stated. Please read our Policies page for more information...