ประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืชบางชนิดต่อการควบคุมแห้วหมู และความเป็นพิษต่อข้าวโพด
Main Article Content
บทคัดย่อ
แห้วหมูจัดเป็นวัชพืชข้ามปีขยายพันธุ์ด้วยหัวใต้ดินที่ซึ่งถูกจัดเป็นวัชพืชแรงร้ายที่ระบาดและกำจัดอย่างสิ้นเชิงได้ยากในแปลงปลูกข้าวโพดหวานทำให้ผลผลิตและคุณภาพลดลง โดยทั่วไปการจัดการวัชพืชด้วยสารกำจัดวัชพืชนับว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งสะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า อย่างไรก็ตามควรเลือกชนิดของวัชพืชที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชเป้าหมายและไม่เป็นพิษต่อพืชประธาน งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอกและหลังงอกบางชนิดต่อการควบคุมแห้วหมูและความเป็นพิษต่อข้าวโพดหวาน สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนงอก ได้แก่ สาร acetochlor อัตรา 240, 300, 360 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ sulfenthazone อัตรา 57.6, 96, 134.4 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ และ imazapic อัตรา 12, 18, 24 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ และสารกำจัดวัชพืชประเภทหลังวัชพืชงอก ได้แก่ temdotrione อัตรา 8.4, 16.8, 25.2 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ triclopyr 44.8, 67.2, 89.6 กรัมสารออกฤทธิ์ 2,4-D-dimethylammonium อัตรา 44.8, 67.2, 89.6 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ และ halosulfuron-methyl อัตรา 3, 6, 12 กรัมสารออกฤทธิ์/ไร่ วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ 4 ซ้ำ ทดสอบในกระถางทดลองภายใต้โรงเรือนทดลอง ผลการทดลองพบว่า สารกำจัดวัชพืชประเภทก่อนวัชพืชงอก acetochlor ทุกอัตรา ให้ผลในการควบคุมแห้วหมูได้ดีที่สุด รองลงมาคือ sulfentrazone และ imazapic ตามลำดับ และมีความเป็นพิษต่อข้าวโพดหวานเล็กน้อย สารกำจัดวัชพืชประเภทหลังงอก พบว่า สาร 2,4-D-dimethylammonium และ triclopyr มีประสิทธิภาพในการควบคุมแห้วหมูได้ดีที่สุด รองลงมาคือ halosulfuron-methyl และ temdotrione ตามลำดับ และไม่มีความเป็นพิษต่อข้าวโพดหวาน ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารกำจัดวัชพืชดังกล่าวข้างต้นจะเป็นตัวเลือกในการควบคุมแห้วหมูในแปลงข้าวโพดหวาน และเป็นข้อมูลพื้นฐานการทดสอบในระดับแปลงทดลองต่อไป
Article Details
บทความในวารสารเกษตรนเรศวรที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของ คณะเกษตรศาสตร์
ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับคณะเกษตรศาสตต์ฯ