ผลของการเพิ่มระดับอุณหภูมิตามแนวโน้มภาพฉายอนาคต RCP4.5 และ RCP8.5 ที่มีต่อปริมาณผลผลิตสตาร์ช และค่าความหวานของข้าวไทย: พันธุ์ กข29 และไรซ์เบอรี่

Main Article Content

กณิตา ธนเจริญชณภาส
นเรศ ขำเจริญ
โอรส รักชาติ
ภาวัช วิจารัตน์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเพิ่มระดับอุณหภูมิ ภายใต้แนวโน้มสภาวะโลกร้อนตามการคาดการณ์ด้วยภาพฉายอนาคต RCP4.5 และ RCP8.5 ที่มีต่อองค์ประกอบผลผลิต สตาร์ช (อมิโลสและ อมิโลเพคติน) และค่าความหวานของข้าว 2 พันธุ์คือ กข 29 และ ไรซ์เบอรี่ ในการศึกษาภาคสนามครั้งนี้ใช้โรงเรือนทดลองระบบเปิดจำนวน 9 โรงเรือนประยุกต์ใช้ระบบไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคเพื่อควบคุมระดับอุณหภูมิ 3 สถานการณ์ ในการศึกษาได้นำต้นอ่อนข้าวปลูกในโรงเรือนระบบเปิด 9 หลังจนถึงระยะเก็บเกี่ยวภายใต้ระดับอุณหภูมิ 3 สถานการณ์ประกอบด้วย ในสิ่งทดลองชุดควบคุม CT(control); 32.55±1.48°C,  HT4.5 (ระดับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ของ RCP4.5);35.16±1.4°C และ HT8.5 (ระดับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ของ RCP8.5);  37.05±1.49°C ตามลำดับ เป็นเวลา 10 ชั่วโมง/วัน ตลอดระยะในช่วงการปลูกข้าว ผลการศึกษาในระยะเก็บเกี่ยวพบผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญที่เด่นชัดที่สุดภายใต้สถานการณ์ HT8.5 โดยพบว่าผลผลิตข้าว ตัน/เฮกแตร์ ของข้าวพันธุ์ กข29 และไรซ์เบอรี่ลดลงร้อยละ 28.5 และ 68.7 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลการศึกษาในสารอาหารของเมล็ดข้าวภายใต้ 3 สถานการณ์ พบว่าปริมาณอมิโลสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในขณะที่ค่าอมิโลเพคตินลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยพบเฉพาะข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่เท่านั้น  สอดคล้องกับการลดค่าความหวาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติภายใต้สถานการณ์ HT4.5 และ HT8.5 เช่นเดียวกัน โดยสรุปข้อมูลจากผลการวิจัยนี้บ่งชี้ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะมีระดับอุณหภูมิเพิ่มสูงที่สุดภายใต้สถานการณ์ RCP8.5 จะส่งผลกระทบต่อการลดผลผลิตข้าวและสตาร์ชชนิดอมิโลเพคตินและค่าความหวานได้เด่นชัดกว่าสถานการณ์ RCP4.5  และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างข้าว 2 ชนิดพันธุ์ข้าวพบว่าข้าวสีพันธุ์ไรซ์เบอรี่จะเป็นข้าวพันธุ์ที่อ่อนไหวต่อระดับอุณหภูมิสูงมากว่า ดังนั้นผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลสำหรับการการปรับตัวในภาคส่วนการเกษตรโดยเฉพาะการจัดการการปลูกข้าวภายใต้สภาวะการเพิ่มระดับอุณหภูมิของประเทศไทยในอนาคต

Article Details

บท
บทความวิจัย