ลักษณะรากและรูปแบบการกระจายตัวของรากอ้อยพันธุ์ก้าวหน้าที่กระทบแล้งในช่วงต้นของการเจริญเติบโต

Main Article Content

ชูศักดิ์ เวียงนนท์
ดรุณี พวงบุตร
ณกรณ์ จงรั้งกลาง
พัชริน ส่งศรี

บทคัดย่อ

ระบบรากเป็นกลไกที่สำคัญต่อการทนแล้งของพันธุ์อ้อย ซึ่งจะช่วยให้สามารถดูดใช้น้ำและธาตุอาหารเพื่อรักษาการเจริญเติบโตและผลผลิตได้เมื่ออ้อยกระทบแล้ง ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ประเมินรูปแบบการเจริญเติบโตของราก การตอบสนองทางสรีรวิทยา และ (2) หาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะรากกับลักษณะทางสรีรวิทยาของอ้อยพันธุ์ก้าวหน้า 15 พันธุ์ ภายใต้สภาพการขาดน้ำในช่วงต้นของการเจริญเติบโต และเมื่อได้รับน้ำกลับคืน โดยปลูกอ้อย 15 พันธุ์ ในไรโซบ็อกซ์ภายใต้สภาพเรือนทดลอง ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดให้อ้อยขาดน้ำในช่วงต้นของการเจริญเติบโต ที่อายุ 16-75 วันหลังปลูก และให้อ้อยได้น้ำรับน้ำกลับคืน เมื่ออายุ 76-90 วันหลังปลูก ตรวจวัดข้อมูลสถานะของน้ำในใบ ค่าความเขียวใบ ความยาวราก ปริมาตรราก มวลชีวภาพ สัดส่วนรากต่อต้น และประสิทธิภาพการใช้น้ำของพืช พบว่า อ้อยมีรูปแบบการกระจายของรากที่แตกต่างกัน อ้อยพันธุ์ Kps01-4-29, Kps07-17-83 และ LK92-11 มีรากกระจายตัวในดินชั้นบนและชั้นล่างมาก และมีปริมาตรราก และสัดส่วนรากต่อต้นอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มพันธุ์เหล่านี้ ยังมีความสามารถในการรักษาระดับสถานะของน้ำในใบและค่าความเขียวใบไว้ได้สูง ทั้งในช่วงที่ขาดน้ำและได้รับน้ำกลับคืน ส่งผลทำให้มีมวลชีวภาพและประสิทธิภาพของการใช้น้ำสูง และ ความยาวราก มีความสัมพันธ์สูงในทิศทางบวกกับมวลชีวภาพ และประสิทธิภาพการใช้น้ำ (r=0.90 และ r=0.90; p≤0.01 ตามลำดับ) ซึ่งข้อมูลจากการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้ต้านทานต่อความแห้งแล้งได้

Article Details

บท
บทความวิจัย (research article)