ประสิทธิภาพของปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรต่อการเจริญเติบโตของคะน้ายอดไต้หวัน พันธุ์บางบัวทอง 35 ที่ผลิตภายใต้การมีส่วนร่วมของเกษตรกรตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

Main Article Content

ปิยะรัตน์ ทองธานี

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรบางชนิดในท้องถิ่นมาทำปุ๋ยหมัก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรในตำบลป่าตัน อำภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง จำนวน 6 ราย งานวิจัยเริ่มด้วยการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ร่วมกันของเกษตรกรและผู้วิจัยเพื่อหาแนวทางปฏิบัติในการเลือกใช้วัสดุในท้องถิ่น เพื่อนำมาทำปุ๋ยหมักภายใต้การทำเกษตรปลอดภัย และใช้แปลงของเกษตรกรเป็นพื้นที่ทดสอบ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ ประกอบด้วย 3 ทรีทเมนต์ ได้แก่ 1) ฟางข้าว 2) ใบฉำฉา (Samanea saman) และ 3) ก้อนเชื้อเห็ดเก่า โดยนำวัสดุที่เลือกใช้มาหมักร่วมกับมูลวัว ดิน และสารเร่ง พด. 1 ตามสูตรที่ได้กำหนดไว้ วัดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเคมีของปุ๋ยที่หมักได้ ได้แก่ ปริมาณไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) และ แมกนีเซียม (Mg) ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N ratio) ค่าการนำไฟฟ้า (EC) ปริมาณอินทรีย์คาร์บอน ปริมาณอินทรียวัตถุ การยุบตัวของกองปุ๋ย และการย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ (GI) จากนั้นทำการศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยหมักที่ได้ต่อการเจริญเติบโตของคะน้ายอดไต้หวันพันธุ์บางบัวทอง ขั้นตอนนี้ จะทำการทดลองในพื้นที่เกษตรกร โดยการวางแผนแบบสุ่มสมบูรณ์ ทรีทเมนต์ ละ 10 ซ้ำ ประกอบด้วย 1) ชุดควบคุม ดิน 4 กิโลกรัม 2) ชุดที่ปลูกด้วยปุ๋ยหมักจากฟางข้าว 100 กรัม + ดิน 4 กิโลกรัม 3) ชุดที่ปลูกด้วยปุ๋ยหมักจากใบฉำฉา 100 กรัม+ดินดำ 4 กิโลกรัม และ 4) ชุดที่ปลูกด้วยปุ๋ยหมักจากก้อนเชื้อเห็ดเก่า 100 กรัม + ดินดำ 4 กิโลกรัม ใช้เวลาในการเพาะปลูก 40 วัน เก็บข้อมูล 4 ด้านการเจริญเติบโตได้แก่ ความสูง น้ำหนักสด ความยาวราก และปริมาณคลอโรฟิลล์


ผลการวิจัย พบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการยุบตัวของกองปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายพร้อมใช้งานคือ 120 วัน โดยพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ในด้านค่าความเป็นกรด–ด่าง ปริมาณอินทรีย์คาร์บอน ปริมาณอินทรียวัตถุ ปริมาณไนโตรเจน และแคลเซียม ในแต่ละทรีทเมนต์ โดยการหมักด้วยใบฉำฉาให้ค่าอินทรียวัตถุและไนโตรเจนทั้งหมดสูงที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 30.46 และ 1.46% ตามลำดับ ในขณะที่การหมักด้วยใบฉำฉาและฟางข้าวมีปริมาณอินทรีย์คาร์บอน สูงสุด คือ 17.66% ส่วนผลการทดสอบ ความเป็นกรด-ด่าง และปริมาณแคลเซียม พบว่าปุ๋ยที่ได้จากการหมักด้วยก้อนเชื้อเห็ดมีค่ามากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 8.53 และ 1.23% ตามลำดับ ไม่พบความแตกต่างทางสถิติในด้านค่าการนำไฟฟ้า อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน ปริมาณฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม และการย่อยสลายที่สมบูรณ์ ระหว่างทรีทเมนต์ แต่อย่างใด เมื่อนำปุ๋ยที่หมักได้ไปทดสอบประสิทธิภาพต่อการเจริญเติบโตของคะน้ายอดไต้หวัน พันธุ์บางบัวทอง 35 พบว่า ปุ๋ยหมักชนิดต่าง ๆ ไม่มีผลทำให้ความสูง น้ำหนักสด ความยาวราก แตกต่างกันทางสถิติ แต่อย่างใด ยกเว้นในชุดควบคุม แต่มีแนวโน้มว่าการใส่ปุ๋ยหมักจากใบฉำฉาส่งผลให้ความสูง น้ำหนักสด มีค่าสูงที่สุด ขณะที่การใช้ปุ๋ยหมักจากก้อนเชื้อเห็ดเก่าส่งผลให้คะน้ามีความยาวรากมากที่สุดและมีความแตกต่างทางสถิติกับชุดควบคุม จากการทดลองยังพบว่าคะน้าที่ปลูกด้วยปุ๋ยหมักจากใบฉำฉามีปริมาณคลอโรฟิลล์สูงกว่าในทรีทเมนต์ อื่นและมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับการใช้ปุ๋ยหมักฟางข้าวและตำรับควบคุม ผลการวิจัยนี้สรุปว่า การทำปุ๋ยหมักจากใบฉำฉามีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นคะน้า มากกว่าปุ๋ยหมักจากฟางข้าวและปุ๋ยหมักจากก้อนเชื้อเห็ด

Article Details

บท
บทความวิจัย (research article)

References

กรมพัฒนาที่ดิน. 2553. คู่มือการปฏิบัติงานกระบวนการวิเคราะห์ตรวจสอบดินทางเคมี. กรมพัฒนาที่ดิน. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. กรุงเทพมหานคร .น .51.
กรมวิชาการเกษตร. 2548. มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ พ.ศ. 2548. แหล่งข้อมูล :http:www.agriinfo.doae.go.th/year52/knowledge/km. ค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
กรมวิชาการเกษตร. 2560. ปริมาณและข้อมูลการนำเข้าปุ๋ยเคมี ปี 2556-2560. กลุ่มควบคุมปุ๋ย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร. แหล่งข้อมูล: http: www.idesignorganic.com. ค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560.
กองบรรณาธิการการเกษตร. 2559. การย่อยสลายและการแปรสภาพวัสดุ. สำนักพิมพ์ปัญญาชน.
คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา. 2548. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.กรุงเทพมหานคร.
จักรชัยวัฒน์ กาวีวงค์. 2550. เอกสารประกอบการสอน .ความอุดมสมบูรณ์ของดิน. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. พิษณุโลก.
จีราภรณ์ อินทสาร. 2557.ธาตุอาหารพืช. แหล่งข้อมูล :https:llgoo.gl/RdNOXp. ค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2560.
ณัฐสิทธ์ แก้วบัววงค์.2560.ผลของการลดอุณหภูมิด้วยเทคนิคการให้ความเย็นเฉียบพลันต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวผักคะน้าไฮโดรโพนิกส์.ปัญหาพิเศษสาขาเกษตรศาสตร์.มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง.
ทศพร บ่อบัวทอง,เนตรนภา อินสลุด,วิชญ์ภาส สังหาลี และ จุฑามาศ อาจนาเสียว.2560. ผลของระดับฟอสฟอรัสต่อการพัฒนาระบบรากข้าว. แก่นเกษตร . 45: 994-1002.
ธันวดี ศรีชาวิรัตน์. 2549. การศึกษากระบวนการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารร่วมกับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2549. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
นรินทร์ชัย พัฒนพงศา. 2533. แนวทางการให้ประชาชนมีส่วนร่วมการพัฒนาชนบท. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ครุสภาลาดพร้าว.
ปิยะรัตน์ ทองธานี.2549.การพัฒนาศักยภาพการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน. น. 172-184.ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ลำปางวิจัยครั้งที่ 2. บูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนาการศึกษาและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน.มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. 2559.
ปิยะรัตน์ ทองธานี .2557. การศึกษาเปรียบเทียบวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติที่ต่างกันต่อการทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ภายใต้แนวทางการทำเกษตรปลอดภัยแบบมีส่วนร่วม. คณะเทคโนโลยีการเกษตร.มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง.
ภาคภูมิ พระประเสริฐ. 2550. สรีรวิทยาของพืช. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร. โอเดียนสโตร์.
ภาควิชาปฐพีวิทยา. 2541. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพมหานคร. ยงยุทธ โอสถสภา. 2558. ธาตุอาหารพืช.พิมพ์ครั้งที่ 4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.กรุงเทพมหานคร.
ยงยุทธ โอสถสภา,อรรถศิษฐ์ วงค์มณีโรจน์ และ เชาวลิต ฮงประยูร. 2551. บทที่ 11 ใน ปุ๋ยเพื่อการเกษตรยั่งยืน. พิมพ์ครั้งที่1. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะ. 2558. สถิติและข้อมูลพื้นฐานการเกษตรประจำปี 2558. กรมส่งเสริมการเกษตร. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.กรุงเทพมหานคร.
สำนักสำรวจและวิจัยทรัพยากรดิน. 2560.กรมพัฒนาที่ดิน. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.กรุงเทพมหานคร.
อำสิน สุนันทิพย์. 2555. การใช้น้ำหมักจากใบจามจุรี. แหล่งข้อมูล http:Rakbankerd.com. ค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2559.
Poincelot, R.P. 1975. The biochemistry and methodology of composting. The Connecticut Agricultural Experiment Station. New Haven Bulletin. 754: 1-17.